ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ?.ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ได้นำกลับไปพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งนายชวนได้ย้ำให้สมาชิกอยู่ใกล้ห้องประชุม เนื่องจากเป็นกฎหมายที่จะมีการลงมติเป็นระยะๆ เกือบทุกมาตรา
นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะประธาน กมธ.ฯ ได้ชี้แจงไทม์ไลน์ในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ แม้จะได้เร่งรัดดำเนินการเพื่อให้มีกฎหมายออกมาควบคุมดูแลแต่เป็นไปด้วยความรอบคอบและรัดกุมตามข้อห่วงใยของทุกฝ่าย โดยเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มุ่งใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เนื่องจากมีผู้ป่วยที่ใช้กัญชารักษาโรคนอกระบบมากถึง 93.4%
นอกจากนี้ยังมีมาตรการควบคุมและป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ การกำหนดบทลงโทษที่รุนแรง การกำหนดให้ประชาชนปลูกได้ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ต้น ส่งผลให้กฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาเพิ่มเติมจากร่างเดิม 45 มาตรา เป็น 95 มาตรา
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่มีการอภิปรายการตรากฎหมายตั้งแต่คำปรารภ ซึ่งแสดงถึงเจตนาในการออกกฎหมายฉบับนี้ เนื้อหายังมีกำกวม ไม่ชัดเจน ซึ่งจะเห็นว่าสถานการณ์ขณะนี้เป็นกัญชาเสรีแบบสุดขั้ว และขอยืนยันว่าการออกมาคัดค้านในเรื่องนี้ไม่ได้เป็นประเด็นการเมือง
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ผิดเพี้ยนไปจากวัตถุประสงค์อย่างมาก เพราะจะเห็นว่าเจ้ากระทรวงสาธารณสุขประชาสัมพันธ์การนำกัญชาไปใช้ในทางอื่นมากกว่าการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น การนำไปใส่ในไอศกรีม ใส่ในส้มตำ กฎหมายที่ออกมาสร้างประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจ ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มีความพยายามที่จะโยนความผิดเรื่องนี้ให้สภาว่าปลดล็อคกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดแล้ว ทำไมจึงมาคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ แต่ในความจริงการปลดล็อคกัญชาเกิดขึ้นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.65 ซึ่งได้ทักท้วงไปว่าตามขั้นตอนที่ถูกต้องนั้นควรจะมีกฎหมายควบคุมออกมาก่อนที่จะปลดล็อค
"วันนี้เหมือนเอาสภาเป็นตัวประกันว่าเมื่อให้ปลดล็อคกัญชาแล้ว สภาก็ต้องเห็นด้วยกับการออกกฎหมายควบคุม" นายสุทิน กล่าว
ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงจุดยืนต่อร่างพ.ร.บ. กัญชา กัญชงว่า ถึงตอนนี้แม้จะมีกฎกระทรวงมาพยายามอุดช่องโหว่ แต่จากการเกิดกัญชาเสรีในช่วงที่ผ่านมา ก็ยังมีปัญหา ซึ่งเรามีความห่วงใยเยาวชน เพราะคิดว่าหากเราต้องการปกป้องเยาวชนต้องมีกฎหมายมาควบคุมกัญชาที่เข้มข้น
"กัญชาไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องที่จะใช้อารมณ์ ไม่ใช่เรื่องของพรรคใดพรรคหนึ่ง และไม่ใช่เรื่องของนายทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของสังคมส่วนรวม ซึ่งต้องหาศูนย์รวมตรงนี้ให้ได้ และย้ำว่าหากอยากให้กัญชาก้าวหน้าต้องมีกฎหมายควบคุม อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจในการโหวตวาระ 3 ต้องมีการลงที่รายละเอียด และต้องตัดสินใจกันอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง" นายพิธา กล่าว
เมื่อพิจารณามาถึงมาตรา 3 เกิดปัญหาขลุกขลักเล็กน้อย เมื่อนายศุภชัย จะขอถอนมาตรา 3 ที่มีการขอตัดถ้อยคำ ให้กัญชา กัญชง ที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ไม่ถือเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วย ยาเสพติดให้โทษหรือประมวลกฎหมายยาเสพติด
ทำให้สมาชิกบางส่วน อาทิ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ท้วงติง เนื่องจากทราบว่า ในการประชุมกรรมาธิการฯ เป็นเพียงการหารือเท่านั้น ไม่ได้มีมติที่จะให้ตัดออกมา อยากให้นำกลับไปทำให้ถูกต้อง ทำให้นายศุภชัย ระบุว่า การจะตัดมาตรา 3 ออกไปเป็นเพียงการหารือในกรรมาธิการ ยังไม่ใช่มติที่ประชุม จึงขอให้ประธานสภาฯ สั่งพักการประชุม เพื่อจะไปประชุมในกรรมาธิการฯ ทำให้ถูกต้อง แล้วจะนำมาเสนอต่อที่ประชุมสภาฯ อีกครั้ง
เมื่อกลับมาประชุมในรายมาตราต่อ นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า แม้จะมีการตัดมาตรา 3 ออกไปทั้งมาตรา แต่กฎหมายนี้ยังไม่สมบูรณ์ เพราะยังมีมาตราอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีก รวมทั้งในประกาศของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องช่อดอก ควรจะมีการทบทวนเพื่อให้เกิดความเหมาะสมเพื่อให้เกิดต่อประโยชน์กับประชาชนด้วย
การพิจารณากฎหมายดังกล่าว เป็นไปอย่างล่าช้า ส.ส.ฝ่ายค้านและส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายแสดงความกังวลไปในทิศทางเดียวกัน ต่อเนื้อหาร่างกฎหมาย ที่ไม่ครอบคลุม ไม่ชัดเจน อาจจะไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่การแพทย์เท่านั้น เห็นว่ากัญชายังเป็นยาเสพติด ที่ต้องควบคุม ขณะที่ส.ส.พรรคประชาชาติ อภิปรายไม่เห็นด้วย ยืนยันว่า กัญชานั้นกระทบต่อหลักศาสนาอย่างชัดเจน
หลังจากสมาชิกได้อภิปรายครบถ้วน ประธานที่ประชุมได้สั่งปิดการประชุม และให้เลื่อนการลงมติไปในการประชุมครั้งหน้า