การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้เข้าสู่วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ?. ที่ค้างการพิจารณาจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา ซึ่งการพิจารณาตลอดทั้งวันนี้ ตั้งแต่เช้าจนถึงบ่าย สามารถผ่านไปได้เพียง 5 มาตราเท่านั้น โดยเริ่มตั้งแต่มาตรา 7/4 เมื่อไปถึงการลงมติในมาตราที่ 11 ปรากฎว่าสมาชิกไม่ครบองค์ประชุม นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่ประธานสภาฯ ในขณะนั้น จึงสั่งปิดประชุมไปเมื่อเวลา 15.05น. นับเป็นเหตุการณ์องค์ประชุมล่มนัดแรก รับปีใหม่ 2566
ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงเช้า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้เข้าสู่วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ?. โดยเป็นการลงมติมาตรา7/4 "การกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีหน้าที่ส่งเสริมการปลูก พัฒนาสายพันธุ์ และให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ" ซึ่งค้างการพิจารณาจากครั้งก่อน เนื่องจากมีปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ
โดยการลงมติเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น หลังจากนายชวน กดออดเรียกสมาชิกมาแสดงตนเป็นองค์ประชุมแล้ว ต้องใช้เวลารอสมาชิกมาแสดงตนเป็นองค์ประชุมนานกว่า 15 นาที มีสมาชิกแสดงตนทั้งหมด 224 คนถือว่าครบองค์ประชุม แม้จะเกินกึ่งหนึ่งจาก 218 คน มาแค่ 6 คนเท่านั้น ทั้งนี้มีผู้ลงมติทั้งหมด 223 คน แบ่งเป็นผู้ที่เห็นด้วยทั้งหมด 129 คน และไม่เห็นด้วย 9 คน งดออกเสียง 85 คน สรุปผลการลงมติ คือ เห็นด้วย
จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณามาตรา 8 โดยนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า นโยบายของพรรคฯ คือไม่เห็นด้วยกับโครงสร้างการตั้งคณะกรรมการในรูปแบบนี้ขึ้นมา เนื่องจากมีแต่หน่วยงานราชการ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข และตำรวจ การที่สภาฯ จะมอบหมายให้หน่วยงานไปออกกฎหมายเองผิดหลักการ เหมือนเซ็นเช็คเปล่า คณะกรรมการต่างๆ ไม่เป็นประชาธิปไตย มีทุกหน่วยงาน ยกเว้นประชาชน อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนจึงควรตัดมาตรานี้ออกไป
ด้านนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การมีอยู่ของคณะกรรมการกัญชา กัญชง โดยเฉพาะการเพิ่มองค์ประกอบของอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เนื่องจากมาตราที่ 8/3 และ 10/1 มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครอง ควบคุม ส่งเสริมสุขภาพของประชาชน เรื่องการคุ้มครองเด็กและเยาวชนไม่ให้เกี่ยวข้องกับกัญชากัญชง มองว่าไม่จำเป็นต้องนำเรื่องการคุ้มครองเด็กมาไว้ในกฎหมายฉบับนี้ฉบับเดียว สามารถนำไปอยู่ใน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก หรือการเพิ่มเติมข้อความที่เกี่ยวข้องในหมวดแอลกอฮอล์จะตรงจุดมากกว่า
ทั้งนี้ มองว่าองค์ประกอบในคณะทำงาน ต้องมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ซึ่งขอบคุณที่ใส่ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและมนุษย์ เข้าไปแทนกรรมาธิการที่มีการแก้ไขใหม่ล่าสุด ดังนั้นในประเด็นนี้ไม่ได้ติดใจ
ส่วนประเด็นที่สอง กรณีของผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งคณะกรรมการปัจจุบันและก่อนหน้านี้ในร่างที่ผ่านฉบับวาระที่ 1 ระบุว่า จะมีผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน ซึ่งมีประสบการณ์ในแต่ละด้าน ด้านละ 1 คน ไม่ได้ระบุถึงความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมทางเพศ ดังนั้น ขอแปรญัตติเพิ่มว่า อย่างน้อยจะต้องมีสตรีจำนวน 3 คนในผู้ทรงคุณวุฒิ
ด้าน นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้โดยเฉพาะเหตุผล มีการระบุว่าเพิ่มคุ้มครองผู้บริโภคกัญชงกัญชาไม่เหมาะสม สอดคล้องกับเรื่องสุรา ยาสูบ หรือฝิ่น ขอแปรญัตติว่าคณะกรรมการชุดนี้แทนที่จะเป็นกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ควรให้เป็นกระทรวงการคลังเช่นเดียวกับสุรา ยาสูบ ที่เป็นบทบาทของคลัง และเสนอให้ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และอธิบดีกรมสรรพสามิต เป็นเลขานุการ โดยมีผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทยเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งจะทำงานสอดคล้องกันเรื่องอบายมุขอื่นๆ ในส่วนของกรมศุลกากรขอตัดออก เพราะไม่อยากเห็นการนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศ ซึ่งถ้าจะใช้เพื่อการแพทย์ กัญชาในประเทศก็เพียงพอแล้ว
นอกจากนี้ ให้เลขาธิการ อย.เข้ามาเป็นฝ่ายเลขานุการ เนื่องจากบทบาทของ อย.ดูแลเรื่องอาหารและยา จึงไม่สมควรที่จะมาทำหน้าที่ในการส่งเสริม หรือดูแลโดยเฉพาะเรื่องการจัดเก็บรายได้ รมว.สาธารณสุข ได้มีการกล่าวไว้แล้วว่า เรื่องนี้มีผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นหมื่นล้าน จึงควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่สมาชิก แปรญัตติในมาตรา 8 ให้เพิ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับกัญชง กัญชาเพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น นายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ให้เพิ่มผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัด แพทย์แผนไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นต้น
ขณะที่ นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ เพิ่มองค์ประกอบของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการกัญชากัญชง เพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิจิตแพทย์ กุมารแพทย์ อายุรแพทย์ และด้านสังคม เนื่องจากกัญชามีผลต่อจิต สมอง ร่างกาย และมีผลกระทบเชิงสังคมทั่วไป
เช่นเดียวกับ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การกำหนดมาตรการวิจัยในกฎหมาย แต่กลับไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ด้านนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า คณะกรรมการเดิมมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมอุตสาหกรรม แพทย์แผนไทย มีสมดุลในการใช้อย่างเสรี แต่ส่วนที่แก้ไขมีการตัดผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ออก ซึ่งเป็นการทำให้การใช้กัญชาไม่สมดุล แต่มีการเพิ่มประธานกรรมการหอการค้าแห่งประเทศไทย มองน้ำหนักว่าจะมีการเปิดให้มีการค้าอย่างเสรีเป็นหลัก ซึ่งควรมีการควบคุมไปพร้อมๆ กัน เพื่อไม่ให้ประโยชน์ตกกับกลุ่มทุนเท่านั้น ประชาชนไม่ได้ประโยชน์และเดือดร้อน
ขณะที่ พล.ต.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่คณะกรรมการเสียงข้างมากมีการแก้ไขมาตรา 4 ในส่วนของคณะกรรมการกัญชากัญชง คณะกรรมการชุดนี้สะท้อนให้เห็นว่า นำกัญชาไปสู่กัญชาเสรี ซึ่งกัญชาส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางเพราะเปิดให้เสรี เช่น ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดังนั้น จึงไม่เห็นด้วยและอยากให้คงตำรวจไว้ กรมการปกครองท้องถิ่น ฝ่ายปกครอง ป.ป.ส. เพื่อดูแลความไม่สงบในสังคม อยากให้ร่างฉบับนี้กลับไปแก้ไขใหม่ให้มีประชาพิจารณ์ จากเดิมที่มี 45 มาตราเป็น 95 มาตรา
นายดะนัย มะหิพันธ์ ส.ส.อำนาจเจริญ พรรคเพื่อไทย มองว่า คณะกรรมการกัญชากัญชงในมาตรา 8 คณะกรรมาธิการให้ความสำคัญกับคณะกรรมการมากที่สุด จากการที่ตั้งเป็นระดับปลัดกระทรวงทั้งหมด ซึ่งตัวแทนจะมาแทนเนื่องจากปลัดมีหน้าที่เยอะอยู่แล้ว ซึ่งไม่สามารถตัดสินใจได้ อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 74 เสนอให้รัฐมนตรีปฏิบัติงาน ซึ่งมีแต่รัฐมนตรีจะสั่งกรรมการไปทำ ดังนั้น ในการตั้งกรรมการกัญชงกัญชา ทั้งนี้ ไม่ได้สงวนคำแปรญัตติ
"ถ้าจะให้ความสำคัญ ทำไมไม่ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้รัฐมนตรีทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาเป็นเลขา เพราะหลายท่านอภิปรายเป็นอันตรายในสังคม เห็นว่าการตั้งคณะกรรมการคณะนี้สู้คณะเดิมไม่ได้" นายดะนัย กล่าว
ขณะที่ นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งคำถามว่า ทำไมต้องตัดอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นออก เพื่อเหตุผลใด เพราะหน่วยงานที่ต้องดูแลพืชใกล้ชิดคือท้องถิ่นดู ส่วนที่มาของคณะกรรมการ ทำไมให้แค่รมว.สาธารณสุข นอกจากนี้ 7 คนมาจากภาคเอกชน ไม่มีตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ปลูกกัญชงถูกกฎหมายจากส่วนกลาง
ขณะที่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มาตรา 8 ในชั้นการรับหลักการในวาระที่ 1 อยากให้กฎหมายฉบับนี้ใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น แต่แฝงด้วยการส่งเสริมการใช้นันทนาการด้วย โครงสร้างคณะกรรมการควรได้รับการแก้ไขเนื่องจากสับสนเรื่องที่มา และหน่วยงานที่ควรเกี่ยวข้องกลับไม่อยู่ โดนตัดออก เช่น ตำรวจ ป.ป.ส. นอกจากนี้ในคณะกรรมาธิการไม่มีหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการในกรรมการเลย ทั้งๆ ที่ปัญหาที่เห็นในสังคมเป็นเรื่องการใช้กัญชาของเด็กและเยาวชน มองว่าโครงสร้างมีความสับสนด้านอำนาจหน้าที่
ด้าน นายศุภชัย ใจสมุทร ประธานคณะกรรมาธิการ ชี้แจงว่า เดิมทีมีคณะกรรมการกัญชา กัญชงที่เสนอมารอบแรก แต่หลังจากที่คณะกรรมการได้พิจารณาแล้ว พบว่ามีโครงขนาดใหญ่ และเป็นห่วงว่าที่สุดแล้วการประชุมของคณะกรรมการกัญชา กัญชงจะไม่สามารถเคลื่อนไปได้เร็ว จึงคิดว่าควรมีการกระชับเท่าที่จำเป็น ที่สมาชิกผู้แทนราษฎรได้มีการอภิปรายกัน
ทั้งนี้ คณะกรรมการกัญชากัญชงประกอบด้วย 2 ส่วน คือ กรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งสองส่วนคณะกรรมการได้พิจารณาแล้วเห็นว่าอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายควรจะทำหน้าที่ด้วยความกระชับ และครอบคลุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น กรรมการโดยตำแหน่งทั้ง 18 คน จะพบว่า หากมีความห่วงใยเรื่องเด็กเยาวชน ก็จะมีปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคตงของมนุษย์ ถ้าเรื่องส่งเสริมการปลูกพืช ก็มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และถ้าส่งเสริมเรื่องการแพทย์ ก็มีหลายตำแหน่งเท่าที่จำเป็น เช่น ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของกรมสุขภาพจิตด้วย นอกจากนี้ ยังมีอธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมอนามัย เป็นกรรมการด้วย ในส่วนขององค์กรการแพทย์ก็อยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ ทั้งนายกสภากรมการแพทย์แผนไทย นายกสภาเภสัชกรรม ส่วนที่ห่วงใยเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ ก็มีประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นกรรมการอยู่แล้ว ซึ่งครอบคลุมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทำการเกษตรด้วย
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องยอมรับความเป็นจริงคือในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เรามีการส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกร เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และยังคำนึงถึงอุตสาหกรรมและการค้า เพื่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการสูบนันทนาการ คณะกรรมการมาจากทุกพรรคการเมืองและเป็นการฟังความรอบด้านแล้ว
ส่วน ผบ.ตร. และ ป.ป.ส. ไม่มีความจำเป็นต้องบรรจุเป็นคณะกรรมการ เพราะกัญชาไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และมีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว ส่วนเรื่องความเท่าเทียมเรื่องของเพศในกรรมการ ปัจจุบันหญิง ชายในประเทศไทยมีความเท่าเทียมอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องระบุไว้
นายจิรวัฒน์ จงสงวนดี กรรมาธิการ กล่าวชี้แจงว่า เรื่องกัญชากัญชงเห็นพ้องว่ามีส่วนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก กรรมาธิการจึงได้พิจารณาผู้เกี่ยวข้องอย่างถี่ถ้วน แต่เนื่องจากจำนวนคณะกรรมการเกี่ยวข้องกับการทำงานของคณะกรรมการ จึงต้องคัดเลือกเฉพาะที่จำเป็น โดยพิจารณาจากสภาพของกัญชา กัญชง และหน้าที่ของคณะกรรมการตามมาตรา 10/1 สุดท้ายได้คณะกรรมการที่จำเป็นมา 25 คน โดยองค์ประกอบให้น้ำหนักไปเรื่องสุขภาพเป็นหลัก จึงมีทั้งหมด 10 คน ส่วนที่ไม่มีกรรมการที่เกี่ยวกับเรื่องภาษี มีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องมากกว่า สำหรับสาเหตุที่รมว.สาธารณสุขเป็นประธาน เนื่องจากเป็นเรื่องสุขภาพเป็นหลัก ซึ่งสามารถสั่งการและให้นโยบายที่เกี่ยวข้องได้ตรงกว่า
ด้านนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวแย้งว่า จากการชี้แจงของกรรมาธิการที่บอกว่า รมว.สาธารณสุข ได้ดูแลเรื่องนี้ มองว่า รมว.สาธารณสุขไม่ได้ทำหน้าที่ไปตลอด เป็นการให้อำนาจมากเกินไป ขณะเดียวกันตั้งคำถามว่า การที่จำนวนคณะกรรมการมีมากขึ้นจะส่งผลให้กัญชาเสรีช้าลงหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการเพิ่มตำแหน่งประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ให้เป็นกรรมการ มองว่าเป็นการส่อว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เสมือนเป็นการเขียนกฎหมายให้ตนเอง
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการลงมติว่า มาตรา 8 กรรมาธิการแก้ไข ที่ประชุมเห็นควรแก้ไขหรือไม่ โดยจำนวนผู้เข้าประชุม 245 คน ครบองค์ประชุม มีผู้ลงมติทั้งหมด 260 คน แบ่งเป็น ผู้ที่เห็นด้วยทั้งหมด 164 คน และผู้ที่ไม่เห็นด้วยมีทั้งหมด 47 คน งดออกเสียง 47 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 2 คน สรุปผลการลงมติคือ ไม่เห็นด้วยให้มีการแก้ไข
มีการลงมติว่า เห็นด้วยกรรมาธิการเสียงข้างมาก หรือเห็นด้วยกับกรรมาธิการที่สงวนความเห็นผู้แปรญัตติที่สงวนการแปรญัตติ โดยจำนวนผู้เข้าประชุม 236 คน ครบองค์ประชุม
ต่อมา มีการพิจารณามาตรา 8/1 กรรมาธิการเพิ่มขึ้นใหม่ มีกรรมาธิการสงวนความเห็น โดยนางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ได้สงวนความเห็นในมาตราที่ 8/1 ตามที่ระบุว่า กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน ต้องมีสัญชาติไทย และมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี และไม่มีลักษณะต้องห้าม 5 ประการ โดยได้เสนอความเห็นในประการที่ 6 เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สมบูรณ์ที่สุด และไม่ขัดกับกฎหมายใด ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการชุดนี้ จะต้องไม่เป็นผู้ประกอบการที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการที่เกี่ยวข้องกับกัญชา กัญชงในลักษณะเพื่อการค้าและอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ขณะที่นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร พรรคก้าวไกล และนายจิรวัฒน์ จงสงวนดี กรรมาธิการ และนายบัญญัติ เจตนจันทร์ พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน
ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ กรรมาธิการ ชี้แจงเกี่ยวกับมาตรา 8/1 ผู้ทรงคุณวุฒิพูดถึงผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ ดังนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 7 คน จึงต้องมีอายุ 35 ปี เนื่องจากเชื่อว่าอายุมีส่วนกับประสบการณ์ที่จะเป็นระดับ ส่วนการพิจารณาเกี่ยวกับบทบัญญัติ มีการกำหนดผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งสามด้านข้างต้น ทั้งด้านกฎหมาย เกษตรและพรรณพืช การตลาด การคุ้มครองผู้บริโภค ภูมิปัญญาท้องถิ่น การวิจัยและพัฒนา และด้านสมุนไพร ด้านละ 1 คน
อย่างไรก็ดี ผู้ที่มีคุณสมบัติครบทั้งสามด้าน มีอุปสรรคหนึ่งของประเทศไทย คือ อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยเรื่องยาเสพติดให้โทษ ไม่เคยกำหนดว่าห้ามใช้ทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์ แต่ในทางปฏิบัติไทยไม่เคยใช้ทางการแพทย์ได้เลย ขณะที่กัญชาเพิ่งมีการปลดล็อกเมื่อปี 62
ดังนั้น ประชากรที่มีความรู้เกี่ยวกับกัญชากัญชงมีอยู่อย่างจำกัด และล้วนมีผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การวิจัย ผู้วิจัยก็ต้องมีเงินเดือน ดังนั้น กรรมาธิการจึงเห็นว่า ถ้าใส่วงเล็บ 6 จะได้แต่ผู้ที่ไม่มีความรู้ จะกลายเป็นปัญหาสำคัญในการพิจารณาในทางปฏิบัติ ซึ่งต้องใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์
ในที่ประชุม มีสมาชิกแสดงตนทั้งหมด 227 คน ถือว่าครบองค์ประชุม มีผู้ที่ลงมติทั้งหมด 248 คน แบ่งเป็นผู้ที่เห็นด้วยกับมาตรา 8/1 กรรมาธิการเพิ่มขึ้นใหม่ ทั้งหมด 151 คน และไม่เห็นด้วย 49 คน งดออกเสียง 48 คน สรุปผลการลงมติคือเห็นด้วย
ต่อมามีสมาชิกแสดงตนทั้งหมด 225 คน ถือว่าครบองค์ประชุม มีผู้ที่ลงมติทั้งหมด 255 คน โดยเป็นการลงมติว่า เห็นด้วยกับการเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ตามร่างของกรรมาธิการเสียงข้างมาก หรือเห็นด้วยกับร่างของกรรมาธิการที่สงวนความเห็น โดยผู้ลงมติเห็นด้วยทั้งหมด 153 คน และไม่เห็นด้วย 42 คน งดออกเสียง 53 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 7 คน สรุปผลการลงมติคือเห็นด้วยที่มีการแก้ไข
ถัดมามีการพิจารณามาตรา 10 มีการแก้ไข มีกรรมาธิการสงวนความเห็น และผู้แปรญัตติสงวนการแปรญัตติ แต่ไม่มีใครอภิปราย แต่เนื่องจากมีการแก้ไขจึงต้องมีการลงมติว่าจะเห็นควรแก้ไขหรือไม่
ต่อมา ที่ประชุมมีการพิจารณามาตรา 10/1 กรรมาธิการเพิ่มขึ้นใหม่ เรื่อง อำนาจหน้าที่คณะกรรมการกัญชา กัญชง โดยนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่แทนนายชวน เนื่องจากติดภารกิจประชุมวิป 3 ฝ่ายเวลา 14.00 น.
ด้าน นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ในส่วนวงเล็บ 2 มีความคลุมเครือ คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจในการส่งเสริมวิจัยและพัฒนา ทั้งในด้านการแพทย์ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และประโยชน์อื่นๆ แต่ลักษณะของกฎหมายฉบับนี้เป็นนันทนาการมากกว่าเพื่อทางการแพทย์ ถ้าจะให้เป็นด้านนันทนาการก็ควรต้องระบุตั้งแต่ต้น
ด้านนายจิรวัฒน์ จงสงวนดี กรรมาธิการ ชี้แจงว่า ในส่วนวงเล็บสอง เรื่องประโยชน์อื่นๆ จะต้องเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี ไม่ได้เป็นการให้อำนาจกรรมการในการทำผิดกฎหมาย เป็นการเขียนเพื่อให้กรรมการมีอำนาจในส่วนที่เกี่ยวข้อง
เมื่อจะมีการลงมติในมาตรา 10/1 ว่า เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการเพิ่มมาตราขึ้นใหม่หรือไม่ ประธานได้มีการกดออดเรียกสมาชิกหลายครั้ง เป็นเวลา 15 นาที กว่าจะครบองค์ประชุม เนื่องจากเป็นช่วงพักเที่ยงที่สมาชิกออกไปรับประทานอาหาร โดยมีสมาชิกแสดงตนทั้งหมด 222 คน ถือว่าครบองค์ประชุม มีผู้ลงมติทั้งหมด 218 คน แบ่งเป็น เห็นด้วยทั้งหมด 113 คน และไม่เห็นด้วย 41 คน งดออกเสียง 61 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 3 คน สรุปผลการลงมติคือเห็นด้วย
ต่อมา มีการพิจารณามาตรา 11 เนื่องจากคณะกรรมาธิการตัดออก จุงถือว่ามีการแก้ไข ต้องมีการลงมติว่าเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งประธานก็ได้กดออดเรียกสมาชิกหลายครั้ง เพื่อให้ครบองค์ประชุม นายศุภชัย กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกับนายชวน ก่อนหน้าที่จะไปประชุมวิป 3 ฝ่าย ว่า ถ้ามีโอกาสอาจมีการเพิ่มวันประชุมพิเศษเพิ่มขึ้นมา เพื่อพิจารณาพ.ร.บ.กัญชง กัญชาโดยเฉพาะ เพื่อให้กฎหมายสำคัญๆ ในสภาฯ ได้ผ่านไป
อย่างไรก็ดี ระหว่างรอองค์ประชุม นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม พรรคเพื่อไทย หารือว่า ก่อนหน้านี้มีผู้ลงมติมาตรา 10/1 จำนวน 218 คน ซึ่งครึ่งหนึ่งขององค์ประชุมพอดี ทั้งนี้ กลัวว่าผลการลงมติจะเป็นโมฆะหรือไม่ เนื่องจากจะต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือมากกว่า 218 คน มา 1 คน ด้านนายศุภชัย วินิจฉัยว่า องค์ประชุมทั้งหมด 436 คน องค์ประชุม 218 คน ที่ผ่านมามีองค์ประชุมพอดี ถือว่าครบองค์ประชุมแล้ว
ด้านนายพีระเพชร ศิริกุล ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย หารือกับประธานว่า ชัดเจนว่าฝ่ายรัฐบาลมีเกินครึ่ง สภาฯ จึงจะดำรงอยู่ได้ องค์ประชุมกระท่อนกระแท่นตั้งแต่เช้า และในการลงมติมาตราล่าสุดก็เหลือครึ่งหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าฝ่ายดำเนินการที่อยากให้กฎหมายผ่าน ไม่ได้อยากให้ผ่านจริงๆ เอาขึ้นมาเพื่อให้รัฐสภาอยู่ได้ครบวาระของสภาเท่านั้น ดังนั้น เมื่อไม่พร้อมในการดำเนินกฎหมายเรื่องกัญชงกัญชา ก็ควรยกเลิกไป เพื่อให้ไม่เป็นการเสียเวลา หรือมองว่า สภาฯ เองก็ไม่อยากให้ผ่าน
ด้านนายศุภชัย โพธิ์สุ กล่าวชี้แจงว่า ผู้ที่เสนอ พ.ร.บ.ทุกคนก็อยากให้ผ่านหมด แต่สมาชิกมาประชุมไม่ครบ ถือว่าเป็นความรับผิดชอบ แน่นอนว่าฝ่ายรัฐบาลเสียงข้างมากต้องรักษาองค์ประชุมมากกว่าฝ่ายค้าน แต่ฝ่ายค้านก็ปฏิเสธการทำหน้าที่ไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบร่วมกัน เป็นภาระที่ได้รับมอบหมายจากประชาชน
ต่อมา นายอุบลศักดิ์ หารือประธานว่า เสียเวลาที่จะรอให้ครบองค์ประชุม และให้เลื่อนไปวันอื่น ด้านนายศุภชัย กล่าวว่า ลึกๆ แล้วเห็นด้วยกับนายอุบลศักดิ์ แต่วันนี้เราทำภารกิจเพื่อบ้านเพื่อเมือง จะคิดอย่างนั้นไม่ได้ ตอนนี้เพิ่งได้ 30 กว่านาที ยังต่ำกว่าที่ประธานสภาฯ เคยทำสถิติไว้นาน 53 นาที นายอุบลศักดิ์ กล่าวแย้งว่า ถ้าตามกฎถ้าสมาชิกมาไม่ครบเกิน 30 นาที ต้องปิดประชุมสภาฯ
เวลาผ่านไปครบ 35 นาที มีสมาชิกแสดงตนทั้งหมด 225 คน ถือว่าครบองค์ประชุม แต่ก็ยังต้องรอหลายนาทีเพื่อให้สมาชิกลงมติ ด้านนายพิเชษฐ์ กล่าวว่า องค์ประชุมสามารถรอได้ แต่รอลงมติไม่ควรรอนาน เพราะถ้าไม่ครบจะทำให้เสียหายทั้งสภาฯ ด้านนายอุบลศักดิ์ กล่าวว่า เชื่อว่าผู้แทนที่อยู่ข้างนอกไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ และมีกฎหมายอื่นๆ รอคิวอยู่จำนวนมาก เสนอให้ถอนไปก่อน เพราะอย่างไรก็ไม่จบ ไม่ผ่าน ถ้าจะผ่านก็ครบองค์ประชุมไปนานแล้ว
นายศุภชัย โพธิ์สุ แจ้งว่า ถ้ารอนานแล้วไม่ครบก็ต้องปิดประชุม แต่ขณะนี้ประธานยังรอได้ พร้อมยื้อเวลารอไปเรื่อยๆ พร้อมกดออดเรียกสมาชิกหลายครั้ง ต่อมาได้มีการสรุปผลการลงมติมาตรา 11 โดยมีผู้ที่ลงมติทั้งหมด 204 คน แบ่งเป็นเห็นด้วยทั้งหมด 147 คน และไม่เห็นด้วย 2 คน งดออกเสียง 50 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 5 คน สรุปผลการลงมติ ถือว่าองค์ประชุมไม่ครบ นายศุภชัยจึงสั่งปิดประชุมเวลา 15.05 น. ถึงเป็นเหตุการณ์องค์ประชุมล่มรับปีใหม่ 2566 ที่เปิดประชุมนัดแรกก็สภาล่มทันที