นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และ พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือ 3 สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ 2 ต่อเนื่องจากฉบับที่ 1 ปีงบประมาณ 2564 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ระยะเวลา 5 ปีนับจากนี้ เพื่อยกระดับการป้องกันและต่อต้านทุจริต มีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้ประเทศไทยใสสะอาด ร่วมสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต และสนับสนุนการขับเคลื่อนการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI ของประเทศไทยให้อยู่ในอันดับ 1 ใน 43 หรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 57 คะแนนภายในปี 2570
ทั้งนี้เจตนารมณ์และความตั้งใจเพื่อให้เกิดความร่วมมือในสาระสำคัญ 5 ประการ ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่
1.เพื่อส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่ และประสานให้เกิดการเสริมสร้างทัศนคติ ค่านิยม ในความซื่อสัตย์สุจริต ให้กับบุคลากร
2.เพื่อสร้างเครือข่ายป้องกันและปราบปรามการทุจริตในกลุ่มผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง ข้าราชการรัฐสภาสามัญ บุคลากรในสังกัด ให้มีกระบวนการเสริมสร้างบทบาทในการเฝ้าระวัง และมีส่วนร่วมในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ
3.เพื่อขับเคลื่อนตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านกรทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ.2561-2580) และแผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
4.เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้มีการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง หรือกฎหมายอื่น ให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานภายในสำนักงาน
5.เพื่อสนับสนุนให้มีการจัดการพัฒนาและเสริมสร้างค่านิยม รวมทั้งปลูกฝังทัศนคติในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตแก่เครือข่ายภาคประชาชน ภาคเอกชน รวมถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เป็นเครือข่ายของสำนักงาน
นายชวน ได้มอบนโยบายว่า แม้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้รับผลการประเมินคะแนนคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ระดับ AA ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่ได้รับคะแนนการประเมินในระดับสูงของประเทศไทย แต่ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดเสมอไป เพราะยังมีตัวชี้วัดที่เป็นปัญหาเพราะบางองค์กรผลการประเมินออกมาดีเยี่ยม แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมากลับมีข่าวที่ทราบกันดีอยู่ แต่ที่ผ่านมามีความพยามป้องกันการทุจริตมาโดยตลอด และทุกองค์กรมีปัญหาเรื่องการทุจริตอยู่ แต่ในสภาน่าจะมีเรื่องนี้ไม่มากนัก
นายชวน ได้ยกตัวอย่างปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง แม้จะมีการพัฒนาระบบ E-bidding ที่ป้องกันการฮั้วประมูลได้ แต่สุดท้ายมีการหาประโยชน์ได้ โดยยอมจ่าย 1% ของมูลค่าในการประมูลจัดจ้าง เพื่อแลกกับข้อมูลตัวเลขหลังสุดของผู้เสนอราคา
นอกจากการเพิ่มความเข้มงวดเรื่องกฏเกณฑ์แล้ว ต้องมาตรวจสอบเรื่องคนด้วย เพราะหากคนที่ทำเรื่องนั้นไม่สุจริตก็พยายามหาเส้นทาง ซึ่งการที่รัฐสภาทำเรื่องบ้านเมืองสุจริตก็หวังว่า จะขยายความเชื่อเรื่องสุจริต โดยร่วมมือกับทุกองค์กร และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในวันนี้ เป็นการยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสของรัฐสภา และเป็นการเน้นย้ำของทุกฝ่ายในการหาทางป้องกันการทุจริต คอรัปชั่น ที่ขณะนี้ต้องยอมรับว่าระบาดไปทั่ว
"ถ้าไปดูในรัฐธรรมนูญ ในคำปรารภห่วงเรื่องนี้ จนกระทั่งเราพูดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับปราบโกง แต่เราก็รู้ความจริงว่า ตัวกฏหมายไม่ได้ทำการโกงกินลดลงเลย มันอยู่ที่พฤติกรรมตัวบุคคล" นายชวน กล่าว
ด้าน พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวมอบนโยบาย ว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้อาสาเป็นองค์กรต้นแบบตั้งแต่ปี 63 จึงเป็นผลให้ทั้งสองสำนักงานได้คะแนนคุณธรรมและความโปร่งใสสูง และนำมาสู่การดำเนินงานต่อในปีนี้ตามวัตถุประสงค์