พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 โดยกล่าวว่า ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถรับมือกับสถานการณ์ความท้าทายต่างๆ ทั้งภายใน และภายนอกประเทศได้เป็นอย่างดี และสามารถฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มเป็น 20 ล้านคน ในปี 2566 จากเดิมอยู่ที่ 10 ล้านคน และตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2566 ที่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนซึ่งคาดว่า GDP จะเพิ่มจาก 3.2%ในปี 2565 เป็น 3.5% ในปี 2566
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมรองรับทุกสถานการณ์จากทั่วทุกภูมิภาคของโลก ที่อาจส่งผลกระทบกับประเทศไทยในอนาคต
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า การใช้จ่ายภาครัฐ ในปีงบประมาณ 2567 ยังคงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนต่าง ๆ ให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งเร่งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล การยกระดับฝีมือแรงงาน การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG)
รวมถึงการจัดสวัสดิการให้แก่คนไทยกลุ่มต่าง ๆ อย่างเหมาะสม โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก ภายใต้กรอบวงเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ วงเงินประมาณ 5.05 แสนล้านบาท
ดังนั้น การบริหารจัดการด้านการคลัง จึงจำเป็นต้องดำเนินไปด้วยความรอบคอบ รักษาวินัย และเสถียรภาพทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว การจัดเก็บรายได้และการใช้จ่ายภาครัฐต้องมีความสอดคล้อง เหมาะสม และยั่งยืน สามารถสนับสนุนการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ก่อให้เกิดภาระทางการคลังในระยะยาว โดยรัฐบาลได้จัดทำแผนการคลังระยะปานกลางปีงบประมาณ 2567-2570 กำหนดเป้าหมายสัดส่วนการขาดดุลการคลังต่อ GDP ให้ลดลงอย่างต่อเนื่องและไม่เกิน 3% ตามมาตรฐานของสากล
นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำประเด็นสำคัญในการจัดทำคำของบประมาณปี 2567 ว่า การจัดทำแผนงานหรือโครงการต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับ 13 หมุดหมาย ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และประเด็นสำคัญภายใต้ (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ที่ต้องเร่งดำเนินการควบคู่กับประเด็นการพัฒนาตาม (ร่าง) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (ฉบับปรับปรุง) และนโยบายรัฐบาล
โดยกำชับทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับประเด็นตามยุทธศาสตร์การจัดสรรฯ 6 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านความมั่นคง 2) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ประกอบด้วย การเกษตร อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต การท่องเที่ยว พื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ โครงสร้างพื้นฐาน SMEs และเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5) ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 6) ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
"การจัดทำงบประมาณปี 67 ถือเป็นอนาคตของพวกเรา ขอให้ช่วยทำความเข้าใจกัน เพื่อไปสู่การพัฒนาประเทศและใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่า พร้อมฝากให้สื่อช่วยประชาสัมพันธ์ด้วย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว