นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ตามที่พรรคฯ ได้เปิดตัวนโยบายบัตรสวัสดิการภาครัฐซึ่งมีประเด็นสำคัญคือ การเพิ่มวงเงินค่าใช้จ่ายเป็น 700 บาท/เดือน โดยคาดว่าจะมีผู้ถือบัตรฯ ราว 18 ล้านคน ซึ่งจะต้องใช้เงินราวเดือนละ 1.2 หมื่นล้านบาท หรือปีละ 1.5 แสนล้านบาทนั้นจะมีแหล่งที่มาของเงินจากการใช้ช่องทางระดมเงินในตลาดทุนด้วยการจัดตั้งกองทุนเพื่อสังคมแทนการใช้เงินงบประมาณ เรื่องนี้กำลังจะเกิดในประเทศไทย
กองทุนเพื่อสังคม เป็นช่องทางหนึ่งในการระดมทุนที่นักลงทุนกำลังให้ความสนใจ เพราะมีความใส่ใจเรื่องสังคมมากขึ้น เหมือนกรณีก่อนหน้านี้ที่มีการตั้งกองทุนฟิวเจอร์ฟันด์แล้วมีประชาชนให้ความสนใจเข้ามาร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก แต่อาจเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องอธิบายให้นักลงทุนเข้าใจ ซึ่งในต่างประเทศมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้พ้นโทษ ให้สามารถมีงานทำเลี้ยงชีพได้ โดยกองทุนจะมีแนวทางในการสร้างงานเพื่อให้มีรายได้แล้วสามารถปันส่วนรายได้กลับคืนมา
แนวทางการระดมทุนดังกล่าวจะปลดล็อกปัญหาเรื่องการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่มีข้อจำกัดตามระบบราชการ และไม่สร้างภาระเรื่องหนี้สาธารณะ ขณะเดียวกันจะช่วยให้การแก้ปัญหาความยากจนเกิดความยั่งยืน โดยภาครัฐต้องมีมาตรการจูงใจ เช่น มาตรการภาษี สำหรับพรรคฯ มีเป้าหมายในการจัดตั้งกองทุนเพื่อกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้มีรายได้น้อย ผู้พิการ แม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้พ้นโทษ ผู้สูงอายุ เป็นต้น
"เรื่องนี้ได้คุยกับคุณรื่นฤดี (สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.) แล้ว ซึ่ง ก.ล.ต.กำลังคิดที่จะดำเนินการ ไม่ใช่แค่การระดมทุนแค่เงินไทย มีต่างชาติต้องการที่จะลงทุนลักษณะนี้ในประเทศกำลังพัฒนา และสอดคล้องกับแนวทางของประชาชาติ" นางนฤมล กล่าว
นางนฤมล กล่าวว่า การสานต่อนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น เนื่องจากเป็นเรื่องที่ได้รับเสียงสะท้อนจากประชาชนมากที่สุด ซึ่งพรรคฯ เห็นว่า ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเรื่องค่าครองชีพ และควรมีการปรับวงเงินให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเนื้อในของนโยบายนี้ไม่ใช่แค่การให้เงินแค่ 700 บาทแล้วจะจบ ยังมีมาตรการต่อเนื่องที่จะทำให้การแก้ปัญหาความยกจนเกิดความยั่งยืน
"การให้เงิน 700 เหมือนกับการให้ปลาไปเฉยๆ เราต้องให้เบ็ดไปด้วยแล้วสอนวิธีตกปลา ซึ่งจะดำเนินการเป็นแพ็คเกจ ที่บูรณาการความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน" นางนฤมล กล่าว
สำหรับการกำหนดนโยบายหาเสียงดังกล่าว พรรคฯ ได้คำนวณค่าใช้จ่ายไว้แล้ว ซึ่งจะต้องจัดทำข้อมูลเสนอให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณา และพรรคฯ เห็นว่างบประมาณที่จะนำมาใช้เรื่องนี้ส่วนหนึ่งจะมาจากงบประมาณส่วนที่เหลืออยู่ และการจัดตั้งกองทุนเพื่อระดมทุน ซึ่งมีความคล่องตัวกว่าการใช้เงินงบประมาณ
หลังจากเปิดตัวนโยบายแรกในการหาเสียงไปแล้ว ขณะนี้คณะกรรมการบริหารพรรคยังไม่ได้พิจารณาถึงนโยบายที่จะเปิดตัวต่อไป ซึ่งเท่าที่ดูน่าจะเป็นเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนเกี่ยวกับที่ดินทำกิน ทั้งปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ สปก. ปัญหาเอกสารสิทธิ์ทับซ้อน ซึ่งจะมีการเปิดตัวนโยบาย "ที่ดินประชารัฐ" เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่มีเสียงเรียกร้องจากประชาชน ต่อจากนั้นน่าจะเป็นนโยบายการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี