ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม สิ้นสุดลงเมื่อเวลาประมาณ 11.12 น.หลังมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ต่อจากการพิจารณาครั้งก่อน ซึ่งเป็นขั้นตอนการลงมติในมาตรา 11 ที่ กมธ.ตัดออกทั้งมาตรา ปรากฎว่ามีสมาชิกแสดงตน 220 คน แต่เมื่อให้ลงมติแล้วมีสมาชิกลงมติเพียง 203 ราย ไม่ครบองค์ประชุมที่จะต้องมีอย่างน้อย 216 คน ประธานฯ จึงสั่งปิดการประชุม
"ตอนเช็คองค์ประชุมก็อยู่ครบ แต่พอลงมติไม่ถึง 216 คน ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาว่าการลมติต้องให้ครบองค์ประชุมด้วย การลงมติครั้งนี้ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม ขอปิดการประชุม" นายสุชาติ กล่าว
การประชุมสภาในครั้งนี้ เปิดประชุมเมื่อเวลา 10.50 น. จนถึงปิดประชุม ใช้เวลาเพียง 22 นาที เท่านั้น ซึ่งถือเป็นเวลาที่สภาฯใช้ประชุมสั้นที่สุดตั้งแต่ที่เคยยมีสภาฯ ชุดที่ 25
สภาผู้แทนราษฎร เริ่มมีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง เป็นการลงมติรายมาตรา ตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค. 65 แต่ที่ผ่านมาก็มีปัญหาเรื่ององค์ประชุมไม่ครบมาโดยตลอด
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของรัฐบาลไม่อยากจะวิพากษ์วิจารณ์ แต่เห็นว่าการล่มของสภามี 2 ปัจจัยคือ ล่มโดยตั้งใจ กับล่มโดยไม่ตั้งใจ หากตั้งใจล่มถือเป็นเทคนิคทางการเมือง เช่น ไม่เห็นด้วย ไม่อยากให้กฎหมายนั้นผ่าน และไม่รู้จะใช้วิธีใดก็เลยไม่อยู่ในที่ประชุมให้สภาล่มไป อย่างเช่นวันนี้ที่เป็นร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง อาจจะมีการไม่เห็นด้วย สภาก็ล่มไป
ส่วนร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ต่อคิวเข้าสภาก็อาจจะต้องถูกเลื่อนออกไป เพราะมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้อาจจะเป็นไปได้ที่จะถูกแขวนยาวรอสภาใหม่ แต่ยังมีกฎหมายสำคัญที่รอให้สภาฯ ก็จะหยิบยกมาพิจารณา โดยรัฐบาลไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะมีกฎหมายต้องเสร็จกี่ฉบับ หากไม่เสร็จก็รอสภาฯ หลังการเลือกตั้งเข้ามาพิจารณาต่อ
ทั้งนี้ หากสภาล่มบ่อยๆ สภาไม่ควรจะถูลู่ถูกังอยู่ต่อไปหรือไม่ นายวิษณุ ระบุว่า เรื่องนี้คงไม่เกี่ยวกัน เพราะยังมีญัตติ กระทู้ และเรื่องอื่นๆ ที่ต้องทำ และในวันพรุ่งนี้ (19 ม.ค.) ก็จะมีการเลื่อน พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้าสู่การพิจารณา จึงขอความร่วมมือจากฝ่ายค้านและรัฐบาล ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ก็ได้กำชับให้ทุกคนเข้าร่วมการประชุมสภาไปแล้ว ส่วนตัวไม่ทราบว่าจะมีเหตุการณ์สภาล่มเกิดขึ้นอีกจนถึงการปิดสมัยประชุมในวันที่ 28 ก.พ.หรือไม่
ส่วนที่ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 นั้น นายวิษณุ ย้ำว่า รัฐบาลพร้อมให้อภิปรายในห้วงเวลาตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.เป็นต้นไป และไม่ได้กำหนดว่าจะให้วันอภิปรายแค่ 2 วัน โดยจะอภิปรายไปจนถึงปิดสมัยประชุมสภาเลยยังได้ ซึ่งอดีตเคยมีในสมัยรัฐบาลที่มีการอภิปรายถึง 7 วัน 7 คืน แต่การอภิปรายครั้งนี้ เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่มากขนาดนั้น