คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)มีมติ 4 ต่อ 1 ให้ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย เนื่องจากกรรมการบริหารพรรคกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยตามขั้นตอนดังกล่าวจะต้องส่งเรื่องผ่านไปยังอัยการฯ พิจารณาก่อน
แหล่งข่าวเปิดชื่อ 1 เสียงใน กกต.ที่ไม่เห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่ คือ นายสมชัย จึงประเสริฐ ที่เห็นพ้องคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนที่เห็นว่าหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารอื่นไม่มีส่วนรู้เห็น
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.แถลงภายหลังการประชุมใหญ่ กกต.ในช่วงบ่ายวันนี้ว่า กกต.จะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาโดยเร็วที่สุด ซึ่งตามขั้นตอนทางกฎหมายแล้ว หากอัยการฯ เห็นพ้องกับ กกต.ก็จะทำหน้าที่เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยกรณีดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หากอัยการฯ ไม่เห็นในทิศทางเดียวกับ กกต.หรือยังไม่มีความเห็นภายใน 30 วันก็จะต้องส่งเรื่องกลับมาที่ประธาน กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง และตั้งคณะทำงานสองฝ่ายจากทั้งอัยการฯ และ กกต.เพื่อจัดทำความเห็นสรุปร่วมกันว่าจะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรมนูญหรือไม่ แต่ถ้ายังไม่สามารถหาข้อสรุปภายใน 30 วัน นายทะเบียนพรรคการเมืองจะมีอำนาจเป็นผู้ยื่นคำร้องเอง
สำหรับความเห็นของนายอภิชาต สุขขัคคานนท์ ประธาน กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ระบุว่า กรณีของพรรคชาติไทยเห็นว่า นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ขณะกระทำผิดยังดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคชาติไทยจนถึงวันที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 18 ม.ค.50 แม้ว่าผลการสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนฯของ กกต.หรือหลักฐานอื่น รวมทั้งการชี้แจงของหัวหน้าพรรคอาจจะทำให้ฟังได้ว่าหัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคอื่น ไม่มีส่วนรู้เห็นการกระทำนั้นก็ตาม
และกรณีของพรรคมัชฌิมาฯ นั้น แม้จะมีข้อโต้แย้งว่านายสุนทร วิลาวัลย์ รองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย และกรรมการบริหารพรรคที่กระทำผิดได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว เนื่องจากนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรคตั้งแต่ 4 ธ.ค.50 ทำให้กรรมการบริหารพรรคสิ้นสุดลงทั้งคณะ
แต่จากการตรวจสอบข้อบังคับพรรคพบว่ามีข้อความที่ระบุชัดว่า "กรณีที่มีเหตุให้กรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ แต่กรรมการบริหารพรรคนั้นจะต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่านายทะเบียนพรรคการเมืองจะตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่" จึงถือได้ว่าในขณะที่นายสุนทรกระทำผิดก็ยังอยู่ในตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคไปจนถึงวันที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 16 ม.ค.51
กกต.ยังได้พิจารณาประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 และกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 237 วรรค 2 ย่อมต้องถือว่า นายมณเทียร และนายสุนทรเป็นกรรมการพรรคผู้มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำผิดตามกฎหมาย ดังนั้นนายทะเบียนพรรคการเมืองก็จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 95 ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่อาจใช้ดุลพินิจอื่นได้
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ศศิธร/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--