เข้าโค้งสุดท้ายปลายเทอมของรัฐบาลชุดปัจจุบัน หลายฝ่ายต่างจับจ้องความเคลื่อนไหวของกลุ่มก๊วนทางเมือง โดยเฉพาะ"กลุ่มสามมิตร" ภายใต้การนำของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายอนุชา นาคาศัย เริ่มขยับตัวเป็นข่าวอีกครั้ง ภายหลังมีประเด็นการกลับมาในพรรคพลังประชารัฐของนายอุตตม สาวนายน และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ซึ่งเคยเป็นอดีตหัวหน้าและเลขาธิการพรรคมาก่อน ที่ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหาเรื่องโควต้าเก้าอี้รมว.พลังงาน รวมถึงการกลับมาของก๊วน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
ดังนั้น หนึ่งในทางรอดของกลุ่มสามมิตร จึงเลือกใช้กลยุทธ์สร้างเครือข่ายแตกตัวไปยังพรรคที่มีโอกาสเป็นรัฐบาล ย่อมดีกว่าการฝังตัวอยู่พรรคเดิมเหมือนการแทงม้าตัวเดียว เพราะเป็นการกระจายความเสี่ยงให้มีเครือข่ายของตัวเองไปอยู่กับพรรคต่างๆ ให้น้ำหนักพรรคที่มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเช่นเดิม ตามเจตนารมณ์ชิงโควต้ารัฐมนตรี
นายอนุชา ออกตัวจากกลุ่มสามมิตรในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ย้ายตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปลงสนามการเมืองในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)
นายสมศักดิ์ ระบุถึงกรณีของนายอนุชาว่า เปรียบเหมือนครอบครัวใหญ่ที่ต้องออกเรือนมีลูกมีหลาน ออกเรือนไปเพื่อไปเติบใหญ่ เป็นเถ้าแก่ที่นั่นที่นู่นได้ ก็ให้โอกาสแต่ละคน ไม่ไปบังคับ
ขณะที่ตัวของนายสมศักดิ์ และ นายสุริยะ ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าอาจจะย้ายกลับไปอยู่พรรคเพื่อไทย (พท.) เพื่อเป็น ส.ส.บัญชีปาร์ตี้ลิสต์ในลำดับต้นๆ ที่มีโอกาสได้รับเลือกตั้งเพราะหากยังอยู่พลังประชารัฐโอกาสค่อนข้างริบหรี่ เพราะ พปชร.มีปาร์ตี้ลิสต์ค่อนมาก โอกาสที่จะมาถึงคงน้อยเต็มที เพราะมองว่าพปชร ไม่น่าได้ปาร์ตี้ลิสต์มากเท่าพรรคเพื่อไทย
ในประเด็นนี้เองนายสุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่แกนนำกลุ่มสามมิตรที่เหลือจะย้ายกลับพรรคเพื่อไทย โดยมองว่าทั้ง 2 คนเป็นนักการเมืองมืออาชีพที่สามารถประเมินสถานการณ์ทางการเมืองได้ดี และหากมองย้อนกลับไปในอดีตก็จะพบว่ามีประวัติย้ายพรรคมาตลอด เพื่อเป้าหมายของการที่ได้ร่วมรัฐบาล
"เขาเป็นนักการเมืองอาชีพที่มองเก่งว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล มันไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์ ที่ผ่านมาก็ย้ายมาหลายครั้งแล้ว" นายสุขุม ระบุ
แต่กระแสข่าวการย้ายพรรค อาจเป็นเพียงการสร้างพลังการต่อรองทางการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐในยามที่ต้องอาศัยคะแนนเสียงของกลุ่มสามมิตรก็เป็นได้