นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นัดประชุมหารือพรรคการเมือง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยวันนี้ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากพรรคเมืองเกี่ยวกับจำนวนค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. รวมถึงเรื่องป้ายประกาศ ทั้งขนาด สถานที่ และจำนวน โดยในส่วนของค่าใช้จ่ายของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.นั้น กกต. ได้ตั้งสมมติฐานให้พรรคการเมืองเลือก 3 รูปแบบ
- รูปแบบแรก กกต.คิดคำนวณเอง โดยใช้ปัจจัย 7 ประการ ได้แก่ อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ, ดัชนีราคาผู้บริโภค, ราคาน้ำมันดีเซล, ราคาไม้อัดขนาด 4X8 ฟุต หนา 4 มิลลิเมตร, กระดาษโปสเตอร์ขนาด 15.5X21.5 (บาทต่อแผ่น) , ค่าไวนิลขนาด 1X3 เมตร (บาทต่อผืน) และฟิวเจอร์บอร์ด 130 เซนติเมตร X 3 มิลลิเมตร (บาทต่อแผ่น) ซึ่งหากอยู่ครบวาระ ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ใช้จ่ายได้คนละ 6.5 ล้านบาท และแบบบัญชีรายชื่อ ใช้จ่ายได้ 152 ล้านบาท ส่วนกรณียุบสภา ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใช้จ่ายได้คนละ 1.74 ล้านบาท และพรรคการเมืองใช้จ่ายได้ 40.6 ล้านบาท
- รูปแบบที่ 2 นำปัจจัย 7 ประการไปหารือกับ 3 หน่วยงานทางเศรษฐกิจ ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงพาณิชย์ ทำให้จำนวนค่าใช้จ่ายของผู้สมัครเพิ่มขึ้นกว่าที่ กกต. ตั้งสมมติฐานไว้
สำหรับค่าใช้จ่ายในรูปแบบที่ 2 กรณีอยู่ครบวาระ ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ใช้จ่ายได้คนละ 7 ล้านบาท แบบบัญชีรายชื่อ ใช้จ่ายได้ 163 ล้านบาท แต่ถ้ายุบสภา ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ใช้จ่ายได้คนละ 1.9 ล้านบาท และบัญชีรายชื่อ ใช้จ่ายได้ 44 ล้านบาท
- รูปแบบที่ 3 เป็นข้อเสนอของ 3 หน่วยงานเศรษฐกิจที่เห็นว่าควรคำนวณอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2562-2565 กรณีอยู่ครบวาระ ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต จะใช้ค่าใช้จ่ายได้ 6 ล้านบาท แบบบัญชีรายชื่อ 141 ล้านบาท และหากกรณียุบสภา ผู้สมัครแบบแบ่งเขต สามารถใช้ได้ 1.6 ล้านบาท แบบบัญชีรายชื่อ ใช้จ่ายได้ 38 ล้านบาท
"ได้เสนอทั้ง 3 รูปแบบให้ผู้แทนพรรคการเมืองได้พิจารณาในที่ประชุมวันนี้ ซึ่งพรรคการเมืองได้แสดงความเห็นหลากหลาย มีทั้งเห็นว่าเหมาะสมแล้ว มากเกินไป หรือน้อยเกินไป โดย กกต.มีแบบสอบถามความเห็นให้พรรคการเมืองได้แสดงความเห็นว่าพึงพอใจรูปแบบใด จากนั้นสำนักงาน กกต.จะนำความเห็นมาประมวล และส่งให้ที่ประชุม กกต. พิจารณาว่าเท่าใดจึงจะเหมาะสมก่อนที่จะออกประกาศ" นายอิทธิพร กล่าว
ส่วนเรื่องป้ายหาเสียง นายอิทธิพร กล่าวว่า มีประเด็นที่พรรคการเมืองสอบถามว่าจะสามารถติดป้ายที่จุดใดบ้าง ส่วนขนาดมีทั้งที่มองว่า กกต.กำหนดใหญ่หรือเล็กเกินไป แทนที่จะให้พรรคเป็นผู้ดำเนินการ กกต.ควรเป็นคนกำหนด และมีข้อเสนอในเรื่องของสถานที่ติดป้ายประกาศว่า กกต.ควรจะเป็นผู้กำหนด
สำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่มีการนำจำนวนราษฎรที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยมาใช้คำนวณเพื่อกำหนดจำนวน ส.ส. และการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น นายอิทธิพร ยืนยันว่า กกต. ปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 86 บัญญัติไว้ว่าให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร์ที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งผู้อำนวยการทะเบียนกลาง ได้ประกาศจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 23 ม.ค.66 ว่ามีจำนวนเท่าใด โดยมีทั้งบุคคลที่มีสัญชาติไทย และไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งถ้าพิจารณาถ้อยคำที่ใช้จะเห็นว่าให้เอาจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรมาพิจารณา ซึ่ง กกต.ได้ยึดหลักการนี้ ในการแบ่งเขตมาโดยตลอด และยังไม่ได้คิดที่จะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย