นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยังไม่เคยปรึกษาเรื่องการยุบสภา ส่วนที่มีกระแสข่าวนายกรัฐมนตรี จะยุบสภาต้นเดือนมี.ค.นั้น ยังเหลือเวลาอีกหลายวันกว่าจะสิ้นเดือนก.พ. เพราะถึงอย่างไรเดือนก.พ.ก็ไม่ยุบสภาอยู่แล้ว ดังนั้นไม่มีอะไรที่จะต้องรีบเร่งหารือ
"ขั้นตอน คือ 1.ยกร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภา 2.นำขึ้นทูลเกล้าฯ และ 3.ลงพระปรมาภิไธยมาแล้ว ก็ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไม่มีอะไรซับซ้อน" นายวิษณุ ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากนายกฯ ประกาศยุบสภา และเป็นนายกฯ รักษาการ เมื่อลงพื้นที่จะสามารถถ่ายทอดสดการทำงานผ่านเฟซบุ๊ก "ไทยคู่ฟ้า" ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สามารถทำได้ ถ้าไปในฐานะรักษาการนายกฯ เพียงแต่สิ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นห่วง คือ การใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบเท่านั้น
พร้อมมองว่า ในอดีตที่ผ่านมาที่มีการยุบสภา นายกฯ รักษาการในสมัยนั้น เช่น นายชวน หลีกภัย, นายบรรหาร ศิลปอาชา ก็สามารถลงพื้นที่ได้ ถือเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนจะถูกมองว่าเป็นความได้เปรียบพรรคการเมืองอื่นหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า คนเป็น รัฐบาลย่อมได้เปรียบโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ทุกรัฐบาลเป็นอย่างนี้ ซึ่งการหาเสียงถ้าใช้ทรัพยากรของรัฐ เห็นชัดว่าจะโดนจับผิด และหากนายกฯ ลงพื้นที่ในนามสมาชิกพรรค ก็สามารถใช้ทีมรักษาความปลอดภัยที่ใช้ในภารกิจนายกฯ ได้
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ.ว่า ในระหว่างการอภิปราย หากองค์ประชุมไม่ครบและเป็นเหตุทำให้สภาล่ม จะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ว่า ถ้าล่มตอนอภิปราย ก็ถือว่าจบการอภิปราย แม้จะล่มในการอภิปรายวันแรก ก็ถือว่าจบ ขึ้นอยู่กับสภาฯ จะนัดกันว่าหากสภาล่มวันแรกแล้ว วันถัดไปจะมีการอภิปรายต่ออีกหรือไม่
"อภิปรายในวันที่ 15 -16 ก.พ.นี้ สมมติหากวันที่ 15 ก.พ. อภิปรายไปถึงเวลา 15.00 น. แล้วมีมือดี ยกมือขอนับองค์ประชุม ประธานในที่ประชุมอาจจะให้มาอภิปรายต่อในอีกวัน หรืออาจจะเห็นว่าได้มีการอภิปรายกันแล้ว หากองค์ประชุมไม่ครบ ก็แสดงว่าไม่ติดใจ ก็ถือว่าจบ" นายวิษณุ กล่าว