นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัวแนะแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนเกี่ยวกับที่ดินทำกิน โดยระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรในภาคเกษตรมากถึง 25 ล้านคน หรือคิดเป็น 40% ของประชากรทั้งหมด แต่เป็นที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าอาชีพอื่นๆ อีกทั้งยังขาดความมั่นคงทางรายได้ มีความผันผวนตามฤดูกาล ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 5,000 บาท ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของแรงงานนอกภาคเกษตรอยู่ที่ 16,000 บาท
สำหรับการจัดสรรที่ดินของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่มีปัญหามายาวนาน เนื่องจากติดขัดเรื่องกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ดังนี้
1. พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจน แต่ไม่สะท้อนความเป็นจริง เพราะสภาพที่ดินและเศรษฐกิจบางพื้นที่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่ยังคงยึดตามวัตถุประสงค์เดิมของกฎหมายที่ใช้มา 48 ปีแล้ว
ขณะที่เกษตรกรประมาณ 40% ถือครองที่ดินเพียง 1-10 ไร่ และอีก 8% ไม่มีที่ดินทำกิน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่ดินที่ถือครองอยู่ในหลายพื้นที่มีสภาพไม่เหมาะสมกับการทำการเกษตร
2.ที่ดิน 36 ล้านไร่ ซึ่ง ส.ป.ก.รับมอบมาจากกรมป่าไม้ ไม่ได้มีการแบ่งแยกว่าพื้นที่ใดเหมาะสมกับการทำเกษตร เช่น ที่ดินที่ไม่มีแหล่งน้ำ หรือที่ดินที่มีสภาพดินไม่ดี ทำให้ที่ดินจำนวนมากไม่เหมาะสมกับการทำเกษตร เกษตรกรผู้ถือครองจะทำอาชีพอื่นก็ไม่ได้ ทำให้ไม่มีรายได้ และยากจนจนถึงปัจจุบัน
3.ประชาชนที่ได้รับมอบที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ไปแล้วประมาณ 2.85 ล้านครอบครัว หลายรายมีอายุเกินกว่า 60 ปี ซึ่งมากกว่า 1 ล้านครอบครัวไม่มีความสามารถทำการเกษตร และไม่มีบุตรหลานที่จะมารับช่วงทำการเกษตรต่อไป โดยยังถือครองที่ดินอยู่ แต่ปล่อยที่ดินว่างเปล่า หรือขายให้กับเกษตรกรด้วยกันแบบไม่ถูกต้อง
4.มีการถือครองที่ดินอย่างไม่ถูกต้อง หรือมีนายทุนไปบุกรุกจับจองที่ดินโดยผิดกฎหมาย ซึ่งต้องมีการสะสางให้ถูกต้องและนำที่ดิน ส.ป.ก.มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติโดยส่วนรวม
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา ได้แก่
1.จำแนกประเภทที่ดินให้ตรงกับสภาพที่แท้จริงของการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามความเป็นจริง
2.ปรับแก้ไขคุณสมบัติของผู้ถือครองที่ดินในปัจจุบัน ซึ่งได้รับมาอย่างถูกต้องตามกฎหมายให้สามารถขอใช้ที่ดินได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตรงกับสภาพที่แท้จริงของพื้นที่ และความต้องการของตนเอง
3.หากผู้ถือครองที่ดินรายใดไม่สามารถนำที่ดินไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ก็สามารถสละสิทธิ หรือเปลี่ยนมือให้กับผู้อื่นซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายรับสิทธิการครอบครองเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินแทน
4.ที่ดินส่วนใหญ่ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมยังคงมีไว้เหมือนเดิม เพื่อให้เกษตรกรที่มีอาชีพการทำการเกษตรและมีรายได้จากการเกษตรเป็นหลักทำอาชีพเดิมต่อไป โดยรัฐ (ส.ป.ก.) จะต้องประสานและสนับสนุนให้มีการพัฒนาเรื่องแหล่งน้ำและสาธารณูปโภคแก่เกษตรกรในพื้นที่ดินของ ส.ป.ก.ให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
"ถ้าแก้ปัญหาที่ทำกินให้เกษตรกรได้ เราจึงจะสามารถแก้ปัญหาความยากจนของพี่น้องเกษตรกรได้อย่างแท้จริง" นางนฤมล ระบุ