สัปดาห์นี้ทุกฝ่ายตั้งตารอสำหรับการอภิปรายทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 15-16 ก.พ.นี้ ที่แม้จะไม่มีการลงมติ แต่เชื่อว่าน่าจะได้เห็นการอภิปรายอย่างดุเด็ดเผ็ดมันกันเลยทีเดียว เพราะถือเป็นการอภิปรายนัดสุดท้ายก่อนจะเข้าสู่โหมดเลือกตั้งครั้งใหม่
การอภิปรายครั้งนี้คาดว่า ฝ่ายค้านจะใช้เป็นเวทีเปิดข้อมูลโจมตีฝ่ายรัฐบาล โดยหวังผลต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในเดือน พ.ค.66 แม้กฎหมายจะกำหนดให้เป็นการอภิปรายเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงและให้ข้อเสนอแนะโดยไม่มีการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนใดก็ตาม แต่รูปแบบคงไม่ยิ่งหย่อนไปจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
พรรคเพื่อไทย ประกาศ "ปฎิบัติการกระชากหน้ากากคนดี" พรรคก้าวไกล มาในธีม "เช็กบิลปรสิต ปิดสวิตช์ 3ป." ล้วนพุ่งเป้าหมายเปิดแผลรัฐบาล โดยเฉพาะวงการตำรวจ ทหาร พลังงาน คมนาคม ซึ่งน่าจะมีการงัดไม้เด็ดดิสเครดิตรัฐบาลในหลากหลายประเด็น
*เช็คลิสต์ประเด็นอภิปราย
ประเด็นต่าง ๆ ที่คาดว่าฝ่ายค้านหยิบยกนำมาอภิปรายครั้งนี้ มีทั้งเรื่องเก่าที่ยังมีข้อสงสัย หรือไม่มีการชี้แจงให้สังคมพึงพอใจเท่าที่ควร ซึ่งฝ่ายค้านจะตอกย้ำขุดขึ้นมาอภิปรายให้เป็นประเด็นอีกครั้ง รวมทั้งเรื่องใหม่ อย่างเช่น การปราบปรามการทุจริต กรณีธุรกิจสีเทา ภัยด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี การทุจริตคอร์รัปชั่น
เบื้องต้นคาดว่าพรรคฝ่ายค้านจะเตรียมข้อมูลมาอภิปรายกันไม่ต่ากว่า 20 ประเด็น อาทิ
- กรณีที่ทำการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่ใช้อาคารของสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่งที่ลูกเขยถูกตำรวจจับกุมในข้อหาฟอกเงินจากการค้ายาเสพติดเครือข่ายตุน มิน ลัต ซึ่งเป็นคนสนิทของผู้นำทหารเมียนมา
- กรณีของนายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ หรือตู้ห่าว ผู้ต้องหาคดียาเสพติด ที่ถูกกล่าวหาเกี่ยวข้องกับขบวนการฟอกเงิน และเกี่ยวพันกับพรรคการเมืองใหญ่ถึง 2 พรรค กรณีหลานชายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่ทำธุรกิจก่อสร้างได้นำรถทัวร์ไปให้บริษัทของนายตู้ห่าวเช่า และกรณีนายตู้ห่าวบริจาคเงิน 3 ล้านบาทให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เมื่อเดือน พ.ค.64 โยงไปถึงคีย์แมนข้างตัวพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค
- กรณีรัฐบาลก่อหนี้สาธารณะเกือบ 10 ล้านล้านบาทจากการกู้เงินตลอดช่วงเวลากว่า 8 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ
- กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปางกลางทะเลอ่าวไทย ซึ่งมีกำลังพลเสียชีวิตและสูญหายรวม 25 นาย
- กรณีของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ปรากฎชื่อ นายเอกชัย ขจรบุญถาวร หรือบอส หนึ่งในพี่น้อง 4 บ.ที่เชื่อมโยงกับคดีพนันออนไลน์ "มาเก๊า 888" มีชื่อเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เมื่อการเลือกตั้งปี 2562
- กรณีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้นอมินีถือหุ้นแทนในบริษัทรับเหมาก่อสร้างเข้าประมูลงานก่อสร้างของกระทรวงคมนาคม และกรณีเอกสารสิทธิ์ที่ดินเขากระโดง
- กรณีนายพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ หรือ นอท กองสลากพลัส, พ.ต.ท.วสวัตติ์ มุครสกุล หรือ "สารวัตรซัว" และ นายพล "จ." ที่ถูกตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการฟอกเงิน พนันออนไลน์ และค้ายาเสพติด
- การละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณี น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ "ตะวัน" และ น.ส.อรวรรณ ภู่หงษ์ หรือ "แบม" ประท้วงอดอาหารและน้ำเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว
- การเรียกรับส่วยของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและพลังงาน ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าและน้ำมัน กระทบต่อต้นทุนการทำธุรกิจ เนื่องจากรัฐประกันรายได้ของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนส่งผลให้ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ปรับตัวสูงขึ้นมาก เป็นต้น
ในการอภิปราย 2 วันนี้ จะใช้เวลาประมาณ 32 ชม. แบ่งเป็นฝ่ายค้านได้ 24 ชม. ส่วนรัฐบาลได้ 8 ชม. ซึ่งฝ่ายค้านได้เตรียมผู้อภิปรายรวม 35 คน โดยในวันที่ 15 ก.พ.จะอภิปรายเปิดและเข้าญัตติโดยผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ตามด้วยหัวหน้าพรรคและผู้ใช้สิทธิหัวหน้าพรรคประมาณ 5-6 คน คงต้องรอดูกันว่าฝ่ายค้านจะสามารถสร้างบาดแผลให้กับพล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลได้มากขนาดไหน
*โอกาสรัฐบาลแถลงผลงาน
แม้ว่ามองว่าฝ่ายค้านจะได้เปรียบในการอภิปรายรอบนี้ก็ไม่เชิงเสียทีเดียว เพราะการอภิปรายครั้งนี้ ถ้ารัฐบาลทำการบ้านมาดี ก็สามารถใช้เป็นจังหวะหาเสียงของรัฐบาลในการแถลงผลงานได้เหมือนกัน โดยเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้อธิบายทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไป ซึ่งฝั่งรัฐบาลเองได้เตรียมชี้แจง 40 ประเด็น และฝ่ายรัฐบาลอาจกลับเป็นฝ่ายได้เปรียบเพราะปัญหาหนักหนากรณีโควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย นักท่องเที่ยวกำลังกลับมา ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเริ่มดีขึ้น ประชาชนเริ่มมีความหวัง
สำหรับการเตรียมตัวรับศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจในฟากฝั่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยืนยัน พร้อมไปชี้แจง แม้จะมองว่าเรื่องที่นำอภิปรายจะเป็นเรื่องที่เคยอภิปรายมาแล้วก็ตาม
*จับตาองครักษ์หน้าใหม่
แต่ในการอภิปรายรอบนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกอภิปรายอย่างโดดเดี่ยวหรือไม่ เพราะสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนไป หลังแยกทางเดินกับพรรคพลังประชารัฐเสียแล้ว ทำให้อาจไร้องครักษ์จากพรรคพลังประชารัฐมาคอยพิทักษ์ปกป้องหากถูกพาดพิงในการอภิปราย ซึ่งคงต้องจับตาไปที่บรรดา ส.ส.ที่แว่วๆว่าเตรียมจะย้ายมาสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ หลังปิดสมัยประชุมสภาอีกหลายสิบคนที่อาจจะลุกขึ้นมาทำหน้าที่นี้แทน
*ลุ้นล่ม-ไม่ล่ม
ส่วนเกมการเมืองที่มองว่าอาจเกิดสภาล่มนั้นเชื่อว่าคงไม่เกิดขึ้น เพราะจะทำให้รัฐบาลเสียเปรียบ และกระทบต่อภาพลักษณ์ อาจถูกตราหน้าว่าหนีการอภิปรายและการตรวจสอบมากกว่า แต่หากเกิดขึ้นจริง พรรคฝ่ายค้านก็เตรียมเปิดเวทีปราศรัยนอกสภาแน่นอน ซึ่งรัฐบาลจะหมดโอกาสที่จะชี้แจงข้อกล่าวหา
นายนิกร จำนง ในฐานะผู้อำนวยการพรรค พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ได้สะท้อนมุมมองการอภิปรายในครั้งนี้ว่า ฝ่ายค้านคงใช้โอกาสนี้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เพื่อหวังผลให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน แต่ถ้าอภิปรายเพื่อหวังผลเฉพาะในการเลือกตั้งที่จะมาถึงของตัวเองก็อาจเกิดผลเป็นลบ เพราะประชาชนย่อมมองออกว่า ไม่จริงใจ
ส่วนฝ่ายรัฐบาลหากไม่ใช้โอกาสนี้ชี้แจงกับประชาชนถึงโอกาสวันพรุ่งนี้ของประเทศ และชี้แจงปัญหาคาใจของประชาชนในอดีตก็ไม่รู้ว่าจะใช้โอกาสไหน ในโอกาสสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 นี้ ก่อนสภาชุดที่ 26 กำลังจะมาทดแทนในไม่ช้า
นอกจากนี้ การอภิปรายครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ฝ่ายการเมืองใช้โอกาสแก้ไขภาพพจน์ทางลบของสภา จากการที่สภาล่มซ้ำซากได้บ้าง และควรใช้เวลาที่เหลือเพียงเล็กน้อย พยายามกอบกู้คืนภาพลักษร์ของสภากลับมาเท่าที่ทำได้