นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเปิดญัตติขออภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติว่า การบริหารราชการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลไม่ได้เป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา โดยมีปัญหาเกิดขึ้นมากมายส่งผลให้ประเทศชาติสูญเสียโอกาส ประชาชนประสบปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นผลพวงต่อเนื่องมาจากการบริหารงานของรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
โดยประเด็นที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีการอภิปราย ได้แก่
- พรรคเพื่อไทย จะพูดถึงความผิดพลาดในการบริหารนโยบายเร่งด่วน, เหตุกราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภู, ปัญหาน้ำท่วม, การจัดสรรงบประมาณที่ไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม, การทุจริตคอร์รัปชั่น
- พรรคก้าวไกล (กก.) จะอภิปปรายความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ, การกระจายอำนาจ, การแก้ปัญหาความมั่นคง, การบริหารทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- พรรคประชาชาติ จะอภิปรายปัญหาทุจริตประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม, การให้สัมปทานที่ดินและป่าไม้แก่นายทุน, การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้
นอกจากนี้ จะมีผู้มาอภิปรายในรายละเอียดเพิ่มเติม ได้แก่ กรณีเหมืองทองอัคราที่มีปัญหาถูกภาคเอกชนฟ้องร้อง ซึ่งมาถึงวันนี้มีเรื่องการเตรียมออกอาชญาบัตรสำรวจในพื้นที่หลายพันไร่ที่จังหวัดจันทบุรี, กรณีการกู้เงิน 5.7 ล้านล้านบาท และขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ของจีดีพี ให้เป็น 70% ของจีดีพี, การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลล้มเหลวมีผลงานน้อยมากหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน, เป็นช่วงที่มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงสุดในกลุ่มอาเซียน, ปัญหาทุนจีนสีเทา, ปัญหาธนกิจการเมือง (Money Politics) ที่พบการทุจริตซื้อขายตำแหน่ง, ปัญหายาเสพติดระบาดหนัก เนื่องจากจัดหาสารตั้งต้นได้ง่าย กระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง และค่าขนส่งถูกลงจากเดิม, กรณีมีเครือญาติของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวพันทุนจีนสีเทา, กรณีไม่อนุมัติงบประมาณส่งเสริมป้องกันของ สปสช.จำนวน 2.1 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้บริการแก่ประชาชนเฉพาะที่ได้รับสิทธิบัตรทองเท่านั้น
ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า ถึงแม้การอภิปรายครั้งนี้จะไม่มีการลงมติ แต่เป็นสิทธิของฝ่ายค้านที่จะนำข้อมูลมาเปิดเผยให้ประชาชนไปใช้ประกอบตัดสินใจในการใช้สิทธิเลือกตั้ง
*ก้าวไกล ชี้รัฐบาลประยุทธ์ทำประเทศเป็นทศวรรษที่สูญหาย
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การอภิปรายครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญมากกว่าการอภิปรายทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะแม้จะไม่มีการลงมติไม่ไว้วางใจ แต่จะเป็นโอกาสให้ประชาชนใช้ข้อมูลการอภิปรายในครั้งนี้ประกอบการตัดสินใจก่อนการเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมามีแต่การสัญญาที่จะให้ประชาชน ซึ่งตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2566 หรือเกือบหนึ่งทศวรรษ
"สิ่งที่ผลิดอกออกผลออกมา ก็คือ ทศวรรษที่สูญหาย ทศวรรษที่สูญหายของงบประมาณ ทศวรรษที่สูญหายของเวลา ทศวรรษที่สูญหายของโอกาส"นายพิธา กล่าว
สำหรับทศวรรษที่สูญหายของงบประมาณ คือ รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ใช้งบประมาณไปแล้ว 28 ล้านล้านบาท แต่กับปรากฏว่า ตัวเลขการเติบโตของจีดีพีของไทยหลังโควิด ประมาณการโดยกอ'ทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อยู่อันดับ 7 ของอาเซียน เห็นได้ชัดว่า สภาพการแข่งขันของประเทศถอยหลังลงคลอง และเมื่อย้อนหลังไปดูจีดีพี เมื่อปี 62 ดูจีดีพีของทุกประเทศในอาเซียนมาเทียบกันหมด พบว่า มีเพียงประเทศไทยที่รั้งท้ายในอาเซียน และยังไม่ฟื้นตัวจริงจากโควิด ส่วนเรื่องการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ จากอันดับ 1 กลายเป็นรั้งท้ายของภูมิภาค และตั้งแต่ปี 57 จนถึง ปี 63 ไทยเป็นประเทศเดียวในคู่แข่งเกษตรที่ไม่มีการยกระดับการผลิตภาคเกษตร
ส่วนทศวรรษที่สูญหายของเวลา คือ เรื่องการศึกษา ภัยแล้ง และคอร์รัปชั่น โดยในเรื่องการศึกษาไทยยังย่ำอยู่กับที่ ส่วนเรื่องคอร์รัปชั่น ดูจากดัชนีคอร์รัปชั่นของไทย ตกไป 25 อันดับในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา แต่เวียดนามกับเดินหน้าไป การลงทุนไปอยู่ที่เวียดนาม และเรื่องการภัยแล้ง พบว่า พื้นที่แล้งซ้ำซากเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังเป็นสูญหายทางโอกาสในการปฏิรูปตำรวจ และลอยตัวเหนือปัญหาในการปฏิรูปทหาร ซึ่งการปฏิรูปตำรวจแม้จะมีการตั้งคณะกรรมการมา 5-6 ชุด มีกฏหมายออกมา 1 ฉบับ แต่ภาพลักษณ์ของตำรวจและการตั้งคำถามถึงความเกี่ยวข้องกับทุนจีนสีเทา การใช้ตำรวจนำนักท่องเที่ยวจีน การตั้งด่านตรวจรีดไถนักท่องเที่ยวไต้หวัน ส่วนการลอยตัวปฏิรูปทหาร ดูจาก เหตุเรือรบสุโขทัยล่ม สาเหตุที่ทหารชั้นผู้น้อยต้องสูญเสียเป็นจำนวนมาก
สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นผ่านการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ถ้าทุกคนเชื่อว่า ทุกการเลือกตั้งคือ โอกาสของการเปลี่ยนแปลง ทำให้คนมีความหวังได้ คือ ประเทศที่มีการเมืองดี ปากท้องดี และมีอนาคต ไม่ใช่การเมืองเดิม ปากท้องเดิม อนาคตแบบเดิม
"การเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นโอกาสในการตัดวงจรทศวรรษที่สูญหาย ให้เป็นทศวรรษที่มีความหวัง ปิดสวิตซ์ 3 ป. เปิดแสงแห่งความหวัง"นายพิธา