นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (กก.) กล่าวว่า ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง เกิดจากการบริหารที่ผิดพลาด กำหนดนโยบายที่เอื้อนายทุน ทำให้ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) สูงผิดปกติ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ 3 แนวทาง คือ
1.ให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเข้ามารับผิดชอบค่าก๊าซธรรมชาติใน Energy Pool เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้ในปริมาณสูงเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายลงได้ 4 หมื่นล้านบาท/เดือน
2.ให้อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าปรับไปใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงแทนก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายลง 1 แสนล้านบาท/เดือน
3.ให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบแทนก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นแนวทางที่ต้องดำเนินการในระยะกลาง เพราะต้องมีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร
"ที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อนายทุน หากดำเนินการทันทีตามแนวทางที่ 1 กับ 2 จะช่วยลดค่าเอฟทีลงได้หน่วยละ 70 สตางค์" นายวรภพ กล่าว
ขณะที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ชี้แจงว่า ไม่อยากให้สร้างความเข้าใจผิดว่ารัฐบาลมีนโยบายเอื้อประโยชน์ให้นายทุน และไม่ได้เป็นไปตามข้อมูลที่ฝ่ายค้านนำมาอภิปราย การกำหนดโครงสร้างพลังงานเกี่ยวกับการใช้พลังงานสะอาดจากก๊าซธรรมชาตินั้น เป็นแนวทางที่ดำเนินการมานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยคำนึงถึงความเพียงพอและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพิ่งจะมากำหนดในรัฐบาลชุดนี้
หากจะให้กลับไปใช้น้ำมันเตาถาวร คงสวนทางกับนโยบายสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสร้างความเสียหายอย่างมาก หากมีโอกาสได้มาเป็นรัฐบาลแล้วไม่เชื่อก็ลองทำดู แต่ต้องรับผิดชอบด้วย ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงเกิดจากสถานการณ์ผิดปกติ ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานที่เป็นต้นทุนการผลิต และไม่มีช่องทางที่จะเปิดการเจรจากับภาคเอกชนเลย ส่วนกรณีที่มีการอนุมัติเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มอีก 1.9 พันเมกะวัตต์ ทั้งที่มีปริมาณสำรองสูงถึง 60% แล้ว เนื่องจากเป็นการพิจารณาตามสถานการณ์เศรษฐกิจก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19