การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ ม.152 วันสุดท้าย เริ่มต้นด้วย ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้อภิปรายถึงการแพร่ระบาดของยาเสพติดในประเทศไทย ส่งผลต่อสังคมเกิดเหตุในครอบครัวรายวัน นำไปสู่การสูญเสีย ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ไม่ได้ปราบปรามและดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง อีกทั้งความล้มเหลวการแก้ทุจริตเต็มบ้านเต็มเมือง
ต่อมานายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวอภิปรายว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม สร้างระบบอุปถัมภ์ในราชการให้ลุแก่อำนาจ ก่อให้เกิดการทุจริตเต็มบ้านเต็มเมือง พร้อมระบุถึงกรณีนายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ หรือ ตู้ห่าว ที่ธุรกิจของเติบโตก่อร่างสร้างตัวได้นั้นด้วยเพราะอาศัยอำนาจ และความใกล้ชิดจากหลานของ พล.อ.ประยุทธ์ใช่หรือไม่
รวมถึงกรณีการจับกุมนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ในห้องทำงานและแจ้งข้อกล่าวหาจากพฤติการณ์เรียกรับเงินจากเจ้าหน้าที่ แต่เพียงข้ามคืนพล.อ.ประยุทธ์ เซ็นคำสั่งให้มาช่วยงานที่สำนักนายกรัฐมนตรีทันที โดยข้ามหัวรัฐมนตรีประจำกระทรวง แต่กรณีตำรวจรีดไถนักท่องเที่ยวกลับสั่งให้ออกราชการทันที
นายวิสาร ยังกล่าวหาพล.อ.ประยุทธ์ เป็นฆาตรกรอย่างเลือดเย็น ที่ทำให้คนไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือ อายุสั้น 2-3 ปี เพราะได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ส่งผลต่อสุขภาพเป็นโรคต่างๆ เช่น ปอดอักเสบ หรือมะเร็ง ทำให้ประชาชนตายผ่อนลง
นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวอภิปรายถึงความไม่ปกติในการแต่งตั้งตำแหน่งภายในสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยเฉพาะตำแหน่งเลขาธิการ ปปง. ซึ่ง ปปง. เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม
โดยนายสมคิด มองว่า ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการแต่งตั้ง โยกย้าย เสนอชื่อคนสนิทเข้าไปทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ ปปง. มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 โดยใช้อำนาจเข้าแทรกแซง จงใจไม่ให้บุคคลภายนอกมาเข้ารับสมัครการคัดเลือก ทำให้ไม่ผ่านกระบวนการสรรหาอย่างถูกต้องและโปร่งใส จึงเป็นเหมือนการผูกขาด และสืบทอดอำนาจคนของตัวเองให้เข้าไปทำหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการ ปปง. จากรุ่นสู่รุ่น
นอกจากนี้ เลขาธิการ ปปง.บางราย ยังมีความรู้จักสนิทสนมกับเจ้าของเว็บพนันออนไลน์รายใหญ่ โดยมีข่าวว่าไปร่วมงานทอดกฐินร่วมกันเจ้าของเว็บพนันออนไลน์รายใหญ่ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีพนันออนไลน์ด้วย รวมถึงมีการร้องเรียนต่างๆ ถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้พื้นที่ชั้น 3 ของสำนักงาน ปปง.ในการเรียกรับเงิน และใช้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมเพื่อความบันเทิงต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงกฎระเบียบ
นายสมคิด ยังกล่าวถึงการทำงานของ ปปง.ปัจจุบัน โดยเฉพาะการประกาศคำสั่งยึดทรัพย์และคืนทรัพย์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตว่า ในปัจจุบันไม่มีการเปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้ โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล จึงมีโอกาสให้การยึดทรัพย์ และคืนทรัพย์ เป็นไปอย่างไม่โปร่งใส และรู้มาว่า ปปง. ได้แอบคืนทรัพย์สินให้กับเจ้าของบ่อนพนันไปหลายร้อยล้านบาทแล้ว หลังจากที่เคยยึดทรัพย์มาก่อนหน้านี้
ส่วนกรณีที่มติของวุฒิสภา เห็นชอบให้นายเทพสุ ชวรโชติดารา ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ปปง.คนใหม่ ทั้งที่เป็นบุคคลที่มีเรื่องร้องเรียนจำนวนมากนั้น ขณะนี้ตนอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณามติของส.ว.ดังกล่าว เนื่องจากบุคคลที่ส.ว.เห็นชอบนั้น มีข้อร้องเรียนจำนวนมาก