การอภิปรายการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ ม.152 วันสุดท้าย ในส่วนของบรรดาส.ส.พรรคก้าวไกล ได้พุ่งเป้าไปที่ปัญหาทุจริตภายในกองทัพ การใช้อำนาจของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มอบพล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ชี้แจงแทน
นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า รัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีมาจากทหารที่มีความคิดผิดยุคผิดสมัย ซึ่งก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมและเกิดวิกฤตศรัทธาต่อสถาบันต่างๆ โดยใช้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นกลไกทำงานแทรกซึมไปทุกส่วนงาน ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินมีโครงสร้างแบบรัฐซ้อนรัฐ แม้จะมีพลเรือนเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงสร้างก็เพียงแค่อ้างความชอบธรรมเท่านั้น
นางอมรัตน์ กล่าวว่า กอ.รมน.นับเป็นองค์กรที่เป็นภัยต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหลังจากการรัฐประหารในปี 57 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ใช้ กอ.รมน.ไปล้างสมองประชาชนให้เกลียดชังกลุ่มคนที่เห็นต่าง เช่น การเข้าไปฝึกอบรมให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ ซึ่งการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านมาต้องสูญเสียงบประมาณเป็นจำนวนมาก โดยไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และที่ผ่านมารัฐบาลเลือกใช้ความรุนแรงในการปราบปรามกลุ่มคนที่เห็นต่าง โดยพยายามยัดข้อหาในคดี 112 สิ่งที่กองทัพควรทำต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์โลกคือ การดูแลความมั่นคงภายนอก ส่วนความมั่นคงภายในควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่น
อย่างไรก็ตาม ตนมีข้อเสนอแนะให้มีการยุบ กอ.รมน.พร้อมปฏิรูปกองทัพ, ปฏิรูป สมช.ให้เป็นองค์กรพลเรือน, ปฏิรูปกฎหมายมั่นคง, การให้สัตยาบันต่อศาลโลกกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน, การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้กับผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นภายในกระทรวงกลาโหม โดยถอดบทเรียนจากเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปางเมื่อเดือนธ.ค.65 ที่ผ่านมา ซึ่งมองว่าต้นตอที่ทำให้เกิดเหตุโศกนาฎกรรม ที่นำมาซึ่งความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของกองทัพเรือในครั้งนี้ จะมาจากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือไม่
โดยนายพิจารณ์ ได้ตั้งข้อสังเกต 3 เรื่อง คือ ในวันที่เกิดเหตุ ซึ่งสภาพอากาศและคลื่นลมแรงในทะเล ใครเป็นออกคำสั่งให้เรือหลวงสุโขทัยกลับสัตหีบ โดยไม่เข้าเทียบท่าที่บางสะพาน ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือที่อยู่ใกล้ที่สุดในขณะนั้น 2.เรือหลวงสุโขทัย เป็นเรือรบที่มีความสามารถทนทานต่อสภาพคลื่นลมแรง และคลื่นสูงได้ถึง 6 เมตร เว้นแต่เรือจะไม่อยู่ในสภาพที่ใช้งาน หรือพร้อมรบ และ 3. เรือหลวงสุโขทัยไม่ได้รับการซ่อมบำรุงอย่างเหมาะสมตามที่ควรจะเป็นในรูปแบบของเรือรบที่ใช้ทำสงคราม
พร้อมกันนี้ ยังมีข้อมูลอื่นๆ ที่ทำให้เห็นว่ามีปัญหาการทุจริตในการซ่อมบำรุงเรือหลวงสุโขทัยในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัสดุที่ไม่ได้ตามมาตรฐาน การซ่อมบำรุงโดยบริษัทที่ไม่ได้รับความเชื่อถือ และช่างซ่อมไม่มีใบรับรองมาตรฐาน ผู้ชนะงานซ่อมเรือหลวง เป็นเพียงบริษัทห้องแถว ทุนจดทะเบียน 1 ล้าน มีพนักงาน 20 คน แต่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพลเรือโท ว. ชื่อเล่น ก. แม้หลักฐานจะไม่ชัดเจน แต่รู้กันภายใน หลับหูหลับตาเซ็นรับงาน
"อยากสื่อสารไปถึง นายกฯ ว่า ได้โปรดอย่ามองยุทโธปกรณ์ เป็นขนมเค้ก แบ่งกันกิน จัดซื้อ จัดซ่อม ทุกคำที่กินอร่อย อาจแค่คิดว่า กินคำเดียวไม่เป็นไร แต่ถ้ากินหลายคน หลายคำ ก็จะเกิดความสูญเสียใหญ่หลวง" นายพิจารณ์กล่าว
โดยได้ฝากว่า การซ่อมบำรุงเรือหลวงสุโขทัยที่ไม่สามารถทำให้อยู่ในสภาพของความเป็นเรือรบที่พร้อมรบได้นั้น ไม่ใช่เพราะกระทรวงกลาโหมได้งบประมาณไม่เพียงพอ แต่นี่เป็นตัวอย่างของการทุจริตคอรัปชั่น แบ่งกันกินจนสร้างความเสียหายจนนำมาสู่โศกนาฎกรรมใหญ่หลวง หากแม้จะเพิ่มงบประมาณให้มากขึ้น แต่การบริหารงานยังอยู่ภายใต้ 3 ป. ที่วนเวียนกับการทุจริตคอรัปชั่น ปกปิดความผิดของตัวเอง ก็ไม่มีวันที่กองทัพจะมีความเข้มแข็ง ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ต้องปฏิรูปกองทัพ
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล อภิปรายโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่ทำให้เกิดการทุจริตภายในกองทัพ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายหาเสียง "ปิดสวิตช์ 3 ป." ของพรรค
โดยเปิดหลักฐานเส้นทางหักหัวคิวเงินกู้บ้านพักทหารที่กลายเป็นต้นตอโศกนาฏกรรมกราดยิงในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีทหารยศจ่า 2 รายรับหน้าที่เป็นผู้จัดเก็บค่าธรรมเนียม 5% และเงินส่วนต่าง จัดส่งให้กับ เสธ.หัวหน้าเงินกู้ยศพันโท ที่มี 3 รายในช่วงปี 54-63 ก่อนส่งต่อให้ผู้บังคับบัญชา
"การหักหัวคิวเป็นไปอย่างต่อเนื่องมานานเป็นสิบปี วงจรนี้จึงไม่น่าจะทุจริตแค่ระดับ เสธ.หัวหน้าเงินกู้ น่าจะมีคนที่อยู่ระดับสูงกว่านี้เป็นผู้สั่งการ" นายปดิพัทธ์ กล่าว
หลังเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดการเปลี่ยนแปลงคือ การยกเลิกโครงการบ้านสวัสดิการบ้านพักทหาร และมีเจ้าหน้าที่กองทัพบกยอมรับว่า ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้จ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ประกอบการจำนวน 15 ล้านบาท จากความเสียหายที่เกิดขึ้นจำนวน 50 ล้านบาท เพื่อไม่ให้เสียชื่อเสียง ขณะที่กองทัพบกดำเนินการสอบสวนและลงโทษ เสธ.หัวหน้าเงินกู้ ด้วยการกักตัวเป็นเวลาแค่ 7 วันเท่านั้น
พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ชี้แจงกรณีเรือหลวงสุโขทัยว่า การซ่อมบำรุงเรือทุกลำมีการซ่อมบำรุงตามแผน เป็นเรื่องของห้วงเวลาตามชั่วโมงการใช้งาน และซ่อมเพื่อให้สามารถพร้อมใช้งานได้โดยไม่เกิดการชำรุด ซึ่งเป็นแผนตามวงรอบ
ทั้งนี้ การซ่อมมีสองส่วน คือ กองทัพเรือดำเนินการเอง โดยกำลังพลที่ผ่านการอบรมหลักสูตรจากบริษัทผู้ผลิต มีใบประกอบวิชาชีพ มีการควบคุมการงานตรวจสอบ อีกส่วนคือเอกชนภายนอกเข้ามาตรวจสอบคุณภาพ การดำเนินการทั้งหมด กองทัพดำเนินการอย่างมีมาตรฐานทุกขั้นตอน ส่วนประสิทธิภาพของเรือหลวงสุโขทัย หลังการซ่อมใหญ่เมื่อปี 2561 - 2563 และส่งมอบเรือใช้งานเมื่อวันที่ 28 ม.ค.2564 หลังซ่อมได้ปฏิบัติภารกิจตามปกติอย่างมีขีดความสามารถ
"คณะกรรมการสอบสวนของกองทัพเรือให้ไปดูสาเหตุเรื่องการซ่อมด้วยว่ามีจุดบกพร่องหรือไม่ ซึ่งรมว.กลาโหมสั่งการให้กองทัพเรือดำเนินการสอบสวนทั้งหมด แต่คงต้องใช้เวลาในการดำเนินการ เพราะเรือเป็นวัตถุพยานสำคัญ มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการกู้เรือ โดยมี 30 บริษัทเสนอเข้ามา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม โปร่งใส มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการกู้เรือ" พล.อ.ชัยชาญ กล่าว
ส่วนการจัดสวัสดิการของกำลังพลให้อยู่ในธรรมาภิบาล โปร่งใส หากมีการร้องเรียนต้องมีการดำเนินการตรวจสอบ หากใครดำเนินการไม่เป็นไปตามระเบียบ จะต้องถูกดำเนินการลงโทษทั้งทางวินัยและอาญา