ในการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ได้มีการหยิบยกประเด็นการคัดเลือกเอกชนในโครงการการบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก หรือโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี รายใหม่ โดยนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย พบว่า การคัดเลือกมีความไม่โปร่งใส มีการทุจริตเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน ได้เอกชนที่ไม่มีศักยภาพมาบริหารโครงการ และทำให้ประชาชนเดือดร้อน จ่ายค่าน้ำแพง และเป็นการทำลายอีอีซี
ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ได้ลงนามสัญญากับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เมื่อวันที่ 23 ก.ย.65 ซึ่งผู้รับจ้างที่ได้รับการคัดเลือกมา ทำงานไม่ได้ ตั้งท่าขายช่วงงานเป็นการทำผิดสัญญา เนื่องจากในสัญญา วงษ์สยามฯ ไม่สามารถให้ช่วงสิทธิในการบริหารและดำเนินกิจการโครงการแก่ผู้อื่นได้ เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบเป็นหนังสือจากคู่สัญญาฝ่ายรัฐก่อน
นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า การที่วงษ์สยามฯ จัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ เพื่อเข้ามาบริหารโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี ถือเป็นการกระทำผิดกฏหมาย เพราะแม้วงษ์สยามฯ จะถือหุ้น 60% ในบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ก็ตาม แต่การที่วงษ์สยามฯ ไม่ทำหน้าที่เองตามสัญญาที่ทำไว้กับกรมธนารักษ์ โดยให้บริษัทที่ตั้งใหม่เข้ามาทำ ก็เหมือนเป็นการเปลี่ยนตัวคู่สัญญา ซึ่งไม่สามารถกระทำได้
"การคัดเลือกบริษัทเอกชน เพื่อบริหารท่อส่งน้ำ ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ทำไมถึงไม่เปิดให้มีการประมูลเป็นการทั่วไป แต่กับเลือกบริษัทวงษ์สยาม ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการน้ำมาก่อน ทำให้ประชาชนเดือดร้อนต้องจ่ายน้ำแพง และลดทอนศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมในอีอีซี" นายยุทธพงศ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า กล่าวว่า นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ซึ่งกำกับดูแลกรมธนารักษ์ และในฐานะประธานคณะกรรมการที่ราชพัสดุ สร้างความเสียหายให้กับโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก โดยไม่เปิดให้มีการประมูลแข่งขัน หนี พ.ร.บ.ร่วมทุน เอื้อประโยชน์ให้เอกชนที่ไม่มีศักยภาพเข้าทำกำไรไป 4,300 ล้านบาท และทำให้ค่าน้ำแพง สร้างความเสียหายและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน และภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี
ขณะที่นายสันติ กล่าวว่า สิ่งที่นายยุทธพงศ์ อภิปรายในวันนี้เป็นการพูดในเรื่องเก่า ซึ่งตนได้เคยตอบกระทู้สดในสภาฯ ไปแล้วก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี จะขอชี้แจงอีกครั้งถึงสิ่งที่นายยุทธพงศ์ กล่าวหาว่าโครงการท่อส่งน้ำอีอีซีไม่ได้เปิดให้มีการประมูลแข่งขันว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ ได้มีการปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายในการเปิดประมูลผู้ที่จะเข้ามาบริหารโครงการท่อส่งน้ำอีอีซีรายใหม่ ต่อจาก บมจ. จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรืออีสต์วอเตอร์ ซึ่งในสุดท้ายได้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ชนะประมูลรายใหม่ ที่จะเข้ามาบริหารโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี
รมช.คลัง ยืนยันว่า การเปิดประมูลรอบใหม่ที่ได้บริษัทวงษ์สยามฯ เป็นผู้ชนะนี้ ได้เสนอผลตอบแทนให้กับภาครัฐในระยะ 30 ปีข้างหน้า ในมูลค่าที่สูงถึง 25,000 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมาก และในอนาคตหากมีการลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น ก็จะยิ่งมีความต้องการใช้น้ำในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น และยิ่งทำให้รัฐบาลมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนมากขึ้น
นอกจากนี้ ใน TOR ฉบับใหม่ยังมีข้อกำหนดให้ผู้ชนะประมูล ต้องเรียกเก็บค่าใช้น้ำตลอดระยะเวลาอีก 30 ปีข้างหน้า ไม่เกิน 10.98 บาท/ลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา EASTW มีการเรียกเก็บค่าน้ำถึง 12-13 บาท/ลูกบาศก์เมตร ดังนั้นจึงจะมาบอกว่าเปิดประมูลใหม่แล้วทำให้มีการเก็บค่าน้ำแพงขึ้นจึงไม่ถูกต้อง อยากให้พิจารณาดูว่าขนาดเก็บค่าน้ำที่ 10.98 บาท ยังสามารถจ่ายผลประโยชน์ให้กับรัฐได้มากถึง 25,000 ล้านบาท ดังนั้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา รัฐต้องเสียผลประโยชน์ไปมากน้อยแค่ไหนกับการที่ EASTW จ่ายค่าตอบแทนให้รัฐตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี เพียง 700-800 ล้านบาท
รมช.คลัง ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การที่ EASTW ไปยื่นฟ้องกรมธนารักษ์ ต่อศาลปกครองในเรื่องกระบวนการคัดเลือกผู้ชนะประมูลโครงการท่อส่งน้ำอีอีซีนั้น เป็นการถ่วงเวลาหรือไม่ ในการส่งมอบทรัพย์สินในโครงการท่อส่งน้ำอีอีซีที่หมดสัมปทานไปแล้วคืนให้กับกรมธนารักษ์ ก่อนที่จะส่งมอบโครงการให้กับผู้ชนะรายใหม่ คือ บริษัทวงษ์สยาม