ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาแล้วเสร็จ ต่อจากเมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ไม่สามารถเปิดประชุมได้ตามเวลาที่นัดหมายกันไว้ เพราะมีสมาชิกรัฐสภาลงชื่อไม่ครบองค์ประชุม ต้องรอจนถึงเวลา 10.38 น. จึงเปิดประชุมได้ โดยมีสมาชิกรัฐสภาแสดงตน 377 คน แบ่งเป็น ส.ส. 209 คน และ ส.ว. 168 คน ซึ่งปัจจุบัน มีจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ 666 คน แบ่งเป็น ส.ส. 417 คน และ ส.ว. 249 คน องค์ประชุมต้องใช้จำนวน 333 คน
ทันทีที่เข้าสู่วาระพิจารณา นายชวน ได้ขอมติจากที่ประชุมในมาตรา 14 ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยให้มีการแก้ไขมาตราดังกล่าว แต่ปรากฏว่าเกิดความขลุกขลักเล็กน้อยในการเสียบบัตรแสดงตนก่อนลงมติ ทำให้นายชวนกล่าวว่า "อย่าให้สภาล่มตั้งแต่เช้าเลยนะครับ" แต่ในที่สุด มาตรา 14 ก็ดำเนินผ่านไปได้ โดยที่ประชุมมีมติเสียงส่วนใหญ่ให้แก้ไขตามที่ กมธ.แก้ไข ด้วยมติ 242 ต่อ 84 งดออกเสียง 6 ไม่ออกเสียง 3 เสียง
จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณา มาตรา 15 นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีบุคลากรทางการศึกษาที่ไม่เห็นด้วย เพราะกังวลว่าจะกระทบถึงค่าตอบแทน ซึ่งตนมีความกังวลใจเช่นกัน และขอให้ชะลอการพิจารณาออกไปก่อน เพื่อรอรัฐบาลใหม่เข้ามาหารือกับทุกฝ่ายให้รอบคอบ หากเร่งรีบแล้วอาจจะเกิดปัญหากับคุณภาพการศึกษา กระทบกับผู้เรียน แม้อยากเห็นประเทศชาติเดินหน้าด้านการศึกษา แต่หากพิจารณาแบบเร่งรีบเกินไปอาจมีปัญหาได้
นายชวน กล่าวว่า ขอให้นายเกษม หารือกับฝ่ายรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไรกับร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเป็นร่างกฎหมายของรัฐบาล ที่ผ่านมา ได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลแจ้งว่าหากอยากให้ร่างกฎหมายผ่าน ต้องนำองค์ประชุมมาด้วย เพราะสภาฯ พยายามทำงานในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติให้สมบูรณ์ ขณะนี้ฝั่งรัฐบาลมีความเห็นที่แตกต่าง ตนไม่ทราบว่าจะดำเนินการอย่างไร
ที่ผ่านมา ต้องอดทนกับการรอองค์ประชุมเพียงมาตราเดียว ทั้งนี้เวลาเป็นของมีค่า ไม่ใช่เฉพาะของตน แต่คือสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด ดังนั้นหากไม่พร้อม จะกินเวลาไปมาก แต่หากพร้อม จะพิจารณาจนถึง 03.00น. ตนก็เต็มใจทำหน้าที่
อย่างไรก็ดี นายตวง อันทะไชย ส.ว.ในฐานะประธาน กมธ. ยืนยันจะใช้กลไกของสภาทำให้การพิจารณาเดินหน้าต่อไป แต่ ส.ส.ฝ่ายค้านยืนยันที่จะให้ถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกไปทบทวนเนื้อหาเช่นกัน
หลังจากนั้น การลงมติแต่ละมาตราเป็นไปด้วยความทุลักทุเล เพราะสมาชิกเสียบบัตรแสดงตนเป็นองค์ประชุมบางตา จนกระทั่งเวลา 13.37 น. ประธานการประชุมได้กดออดเรียกสมาชิกให้แสดงตนก่อนลงมติ มาตรา 16 ปรากฏว่าเวลาผ่านไปเกือบหนึ่งชั่วโมงสมาชิกก็ยังไม่ครบองค์ประชุม โดยมีสมาชิกรัฐสภามาแสดงตนเพียง 320 คนเท่านั้น นายชวนจึงสั่งปิดการประชุมในเวลา 14.26 น. ซึ่งถือว่าการประชุมรัฐสภาล่มเป็นครั้งที่ 6 นับแต่ต้นปี 66
ก่อนปิดประชุม นายชวน กล่าวว่า ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ขอขอบคุณทุกคนที่มาร่วมกันประชุมพิจารณาเรื่องต่างๆ ได้ผ่านการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการปฏิรูป 13 ฉบับ หนังสือสัญญา 17 ฉบับ อยากเรียนว่า 4 ปีได้รับความร่วมมือด้วยดี แม้ในช่วงปลายมีปัญหาบ้างก็ตาม ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย 4 ปี เราจะไม่สามารถทำงานได้ถึงขนาดนี้ การเปิดสมัยวิสามัญไม่อยู่ในฐานะที่รัฐสภาทำเองได้ ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล แม้วันนี้คาดว่าจะเป็นวันสุดท้ายของการประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ตาม
"ขอให้ทุกคนที่มาจากการเลือกตั้ง ประสบความสำเร็จทางการเมือง ส่วนวุฒิสมาชิก เชื่อว่าส่วนใหญ่เป็นผู้มีความรู้ที่น่าเคารพนับถือ ผมจึงห้ามเสมอ อย่าพาดพิงเหมารวมจนทำให้ทั้งหมดเสียใจ หวังว่า ส.ว.จะได้เป็นกำลังของบ้านเมืองในหน้าที่ของแต่ละฝ่ายต่อไป" นายชวน กล่าว