นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า กรอบเวลาการเลือกตั้งมีแนวโน้มจะเป็นวันที่ 7 พ.ค.นี้ ส่วนที่ พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ค.นั้น เป็นเพียงการพูดตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วางกรอบไว้ และดูความเป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่สามารถจะไปกำหนดวันเลือกตั้งได้เอง
"ตามที่ได้เคยอธิบายมาตลอดว่า วันเลือกตั้งจะเป็นวันอาทิตย์ และห่างจากวันที่ยุบสภาไม่เกิน 60 วัน และช่วงที่ดีที่สุดคือ 50 กว่าวัน จึงมาตกในวันที่ 7 พ.ค ไม่ว่าจะยุบสภาวันใดก็ตาม แต่ถ้าเห็นว่าวันที่ 7 พ.ค.ไม่เหมาะสม ก็เลื่อนได้ แต่ก็จะเกิน 60 วัน และหากจะให้เร็วกว่าวันที่ 7 พ.ค. ก็จะตรงกับวันที่ 30 เม.ย. 66 แต่อาจจะถูกต่อว่าได้ ว่ามีเวลาการหาเสียงสั้นเกินไป" นายวิษณุ ระบุ
ส่วนที่นายกรัฐมนตรี ประกาศความชัดเจนวันเลือกตั้งแบบนี้ จะทำให้ ส.ส. ทยอยย้ายพรรคในช่วงนี้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้ย้ายพรรคกันจะหมดแล้ว แต่ถ้ายังไม่ย้ายก็สามารถทำได้ เพราะยังสามารถสังกัดพรรคได้ภายใน 30 วัน
ส่วนที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะยุบสภาต้นเดือนมี.ค. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเรื่องการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต ในวันที่ 3 มี.ค. จะทำให้ยุบสภาหลังวันดังกล่าวหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า อยู่ที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เคยเปรยว่าจะหารือภายในกับพรรคร่วมรัฐบาล แต่ไม่ถึงขั้นหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพราะการยุบสภาครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสภาผู้แทนราษฎร และการยุบสภาจะประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา ที่สามารถออกโดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจาก ครม.
สำหรับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคำร้อง กกต.ในวันที่ 3 มี.ค.66 เกี่ยวกับการนำผู้ไม่มีสัญชาติไทยหรือต่างด้าว มาคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นการดีและเร็ว แต่ยังไม่ทราบว่าจะกระทบต่อไทม์ไลน์การเลือกตั้งหรือไม่ เพราะต้องรอศาลรัฐธรรมนูญว่าจะตัดสินอย่างไร แต่เท่าที่ประสาน กกต.มีการเตรียมแผนไว้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะนับรวมผู้ไม่มีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ตาม และอยู่ในกรอบเวลาที่วางไว้
ส่วนการทำหน้าที่ของรัฐบาลรักษาการ จะพ้นเมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ดังนั้นการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ก็ได้เตือนให้ยื่นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง ไม่ใช่นับจากวันที่ยุบสภา
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงการทำหน้าที่ของข้าราชการช่วงรัฐบาลรักษาการว่า ให้ทำงานไปตามปกติ เพราะไม่ว่าจะยุบสภา เลือกตั้งใหม่ หรือแต่งตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ก็ไม่เกี่ยวกับข้าราชการประจำ แต่ในส่วนของข้าราชการการเมือง ต้องระมัดระวังการทำหน้าที่ และการนับการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่าไม่นับรวมระยะเวลาที่ทำหน้าที่รักษาการ