ถึงเวลานับถอยหลังสู่โหมดการเลือกตั้ง หลังชัดเจนแล้วว่าจะมีการยุบสภา เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมายอมรับภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ว่าจะมีการยุบสภาช่วงเดือน มี.ค.ก่อนสภาครบวาระในวันที่ 23 มี.ค.แน่นอน เพื่อให้กรอบเวลาการเลือกตั้งเป็นไปตามไทม์ไลน์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่วางไว้วันที่ 7 พ.ค.
ส่วนจะยุบสภาวันไหนนั้น ต้องจับตากันให้ดี เพราะมีกระแสข่าวออกมาว่าทั้งพล.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีการพูดคุยกันว่า จะเลือกช่วง 13-17 มี.ค.นี้ ซึ่งคงไม่หลุดไปจากนี้ เพราะหลายเหตุผล ซึ่งผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองเคาะเป้าหมายว่าไม่น่าผิดไปจากวันที่ 15 มี.ค.บวก/ลบ ไม่เกิน 5 วัน 7 วัน
*รอความชัดเจนการแบ่งเขตเลือกตั้งของกกต.
เหตุผลที่คาดว่าจะเกิดการยุบสภาในช่วง 13-17 มี.ค.นั้น เป็นเพราะต้องรอความชัดเจนการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ กกต.ในการกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี หลัง กกต.นับรวมประชากรที่เป็นแรงงานต่างด้าวในแต่ละพื้นที่ด้วย หลังส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้ว ล่าสุดศษลได้นัดวินิจฉัยในวันที่ 3 มี.ค.นี้
หากตีความออกมาว่า กกต.ไม่สามารถนำราษฎรที่ไม่ใช่สัญชาติไทย มาคำนวณจำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัดและแบ่งเขตเลือกตั้งได้ กกต.ก็ต้องถอนกลับมาเพื่อแก้ไขการคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ซึ่งอาจทำให้การแบ่งเขตเลือกตั้งช้าไปราว 1-2 สัปดาห์ แต่เชื่อว่าก็ยังอยู่ในกรอบกำหนดการเลือกตั้งที่ กกต.วางไทม์ไลน์ไว้
*รอกฎหมายสำคัญ
นอกจากนี้ หากยุบสภาจะมีผลให้ร่างกฎหมายต่างๆ ที่ค้างอยู่ใน 2 สภา ทั้งสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาตกไปทันที ซึ่งมีอยู่ราว 29 ฉบับ ส่วนร่างกฎหมายที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้ว 11 ฉบับ ยังเป็นไปตามขั้นตอนตามปกติ
สอดคล้องกับมุมมองของ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เชื่อว่าอาจเป็นวันที่ 15 มี.ค. เพื่อให้จัดการเลือกตั้งได้ในวันที่ 7 พ.ค. และเพื่อให้พิจารณากฎหมายที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จก่อน
*รอกระบวนการส.ส.ย้ายพรรค
หากเริ่มนับระยะเวลา 45 วัน ที่กกต. ขอเวลาในการเตรียมจัดการเลือกตั้ง ก็จะพบว่า ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. เป็นต้นไป หากจะมีการ "ยุบสภา" หรือ "สภาอยู่ครบวาระ" ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องของการจัดการเลือกตั้ง ทั้งเรื่องการย้ายพรรค การตั้งสาขาพรรคให้ครบทุกจังหวัด
หลังจากนี้ไปคงได้เห็นความชัดเจนของการย้ายพรรคมากขึ้น ทั้งกลับรังเก่า ย้ายข้ามขั้ว ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปิดตัวให้ชัดๆ หากมองไปแต่ละพรรค พรรครวมไทยสร้างชาติ แม้จะมีการเปิดตัว พล.อ.ประยุทธ์อย่างยิ่งใหญ่ แต่ถึงขณะนี้การวางตัวผู้สมัครในแต่ละจังหวัด ยังไม่ชัดเจน แถมหลายพื้นที่ไม่สามารถเคาะผู้สมัครได้ด้วยซ้ำ และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเปิดตัวนโยบายหลัก ๆ ออกมา
ต่างกับพรรคพี่ใหญ่ ของพล.อ.ประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เปิดตัวผู้สมัครต่อเนื่อง ล่าสุดได้ควบรวมสมาชิกพรรคสร้างอนาคตไทย เข้าพรรคอีกล็อตหนึ่ง เสริมความแข็งแกร่งให้กับพรรค แถมดูแลก๊วนใหญ่ ๆ ภายในพรรค ไม่ให้แตกแถว
ดังนั้น อีกไม่นาน คงได้เห็นสีสัน และลีลาการหาเสียงของแต่ละพรรคอย่างเต็มที่ รวมไปถึงนโยบายชวนฝันว่าจะซื้อใจประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน นี่ขนาดยังไม่ถึงโค้งสุดท้าย ยังมีการหยิบยกตัวเลขเงินช่วยคนจนมาเกทับกัน บางพรรคบอกขึ้นค่าแรงเป็น 600 บาท บางพรรคก็บอกจะเพิ่มในบัตรคนจน 700 บาท กว่าจะถึงวันเลือกตั้งคงมีนโยบายต่างๆ ทยอยเปิดออกมาเรียกเสียงฮือฮาอีกมากมาย
แถมพลาดไม่ได้ต้องติดตามจะมีการเปิดตัวส.ส.แบบเซอร์ไพร์สอีกหรือไม่ เพราะเชื่อได้ว่า ตอนนี้น่าจะมีการปั่นค่าตัว ค่าหัวกันสนุก ไหนจะเรื่องตำแหน่ง บทบาทในพรรค หรือไปถึงขั้นเก้าอี้รัฐมนตรี คงจะมีการต่อรองกันอย่างมโหฬาร หากจะเปรียบการเลือกตั้งเป็นฟุตบอลโลก คงต้องบอกได้ว่า ช่วงนี้คงเป็นช่วงซื้อตัวนักเตะก่อนอุ่นเครื่องที่จะเข้าไปแข่งรอบสุดท้ายแบบวันเดียวจบ ที่คาดกันว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนพ.ค.นี้