นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย โพสต์เฟซบุ๊ก เรียกร้องประธานสภา นัดประชุมพิจารณา พ.ร.ก.อุ้มหาย เพื่อเร่งพิจารณาให้ทันสมัยประชุมนี้
นายสมชัย ระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่ง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เข้าสภาฯ แล้วในวันสุดท้ายของการประชุมสภาฯ หลังจากหลายฝ่ายรุมกระหน่ำว่า ครม.ทำผิดรัฐธรรมนูญ ออก พ.ร.ก.ทั้งๆ ที่สภาฯ อยู่ในสมัยประชุม และดึงเรื่อง ทำทีไม่ส่ง รอให้ปิดสมัยประชุม เพื่อไปเสนอในสภาชุดใหม่เดือนก.ค.66
ทั้งนี้ เมื่อภาคประชาชน ขู่จะยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถอดถอน ครม.ทั้งคณะ จึงรีบเสนอ พ.ร.ก.ดังกล่าวเข้าสภาฯ ในวันสุดท้ายของการประชุมสภาฯ
นายสมชัย ยังระบุว่า ประธานรัฐสภาพึงใช้โอกาสนี้ ในการนัดประชุมสภาในวันจันทร์ 27 หรืออังคาร 28 ก.พ. เพื่อพิจารณา พ.ร.ก.ในสมัยประชุมนี้ ซึ่งจะสิ้นสุด 28 ก.พ. แต่หากไม่ทัน ก็เรียกประชุมสมัยวิสามัญก่อนวันที่ 23 มี.ค.66 อันเป็นวันสุดท้ายของอายุสภาชุดนี้
ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน และ ส.ส.ที่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก. ควรเข้าชื่อ 1 ใน 5 หรือประมาณ 100 คน ส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ขัดรัฐธรรมนูญทันที ควบคู่ไปด้วย โดยไม่ต้องรอประชุมสภา หากศาลเห็นว่าขัด พ.ร.ก.นี้ ก็ไม่สามารถใช้ได้
นายสมชัย เชื่อว่าหากมีการประชุมสภาฯ เชื่อว่ารัฐบาลแพ้โหวต 100% เพราะกฎหมายนี้ คือกฎหมายที่ดีที่สุดในการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้ไม่ถูกซ้อม ทรมาน อุ้มหาย
"คงไม่มีพรรคการเมืองไหน จะบอกว่าเห็นด้วยที่มี พ.ร.ก.ให้เลื่อนการบังคับใช้ ด้วยเหตุเพียงว่า ตำรวจไม่พร้อม" นายสมชัย ระบุ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวในการตอบกระทู้ถามต่อการบังคับใช้กกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ว่า ขณะนี้พ.ร.บ.ยังดำเนินการต่อไป มีเพียง 4 มาตราเท่านั้นที่เลื่อนไป 7 เดือน เพื่อเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการดำเนินการและอุปกรณ์ เช่น กล้องบันทึกภาพ ซึ่งขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณ 444.81 ล้านบาท ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดหากล้องบันทึกภาพและเสียง
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในตอนแรก สตช.ขอเลื่อนแบบไม่มีกำหนด แต่เมื่อเราพิจารณาแล้วเห็นว่าควรให้แค่ 7 เดือนเท่านั้น หากเราไม่เลื่อนให้เลยอาจจะมีผลเสียตามมา อาจจะทำให้การเก็บรวมรวมหลักฐานตามกระบวนการไม่สมบูรณ์ เกิดการโต้แย้งในระหว่างดำเนินคดี ส่งผลเสียต่อสังคมอย่างมาก รวมถึงอาจทำให้เจ้าหน้าที่เสี่ยงต่อการถูกลงโทษทางอาญาและวินัยอีกด้วย จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการเลื่อนในมาตราที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ซึ่งกระทรวงยุติธรรมก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการเลื่อน แต่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมเราจึงกำหนดกรอบไว้แค่ 7 เดือน
"การดำเนินการตรงนี้ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ไปดึงดันอะไรทั้งสิ้น ส่วนไหนที่ไม่สมบูรณ์ งบประมาณที่ขาดอยู่ก็เติมให้ ซึ่งในมาตราอื่นที่อยู่ในกฎหมายนั้นก็ยังใช้ได้ สำหรับมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดว่า การจัดทำ พ.ร.ก. ต้องส่งเข้าสภาโดยเร่งด่วน ตนได้ถามไปที่สำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ทราบว่าหนังสือกำลังจะส่งอยู่นายกฯแล้ว หากมีโอกาสเปิดสภาก็คงมีโอกาสได้พิจารณา ซึ่งเป็นอำนาจของประธานสภาในการพิจารณาต่อไป"นายสมศักดิ์ กล่าว