การประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดสุดท้ายก่อนปิดสมัยประชุม ซึ่งมีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณาเรื่องด่วน คือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ที่มีผู้เสนอรวม 7 ฉบับ ซึ่งดำเนินการต่อจากครั้งที่แล้วว่าจะรับหลักการหรือไม่
โดยที่ประชุมมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 291 คน ไม่รับหลักการไม่มี งดออกเสียง 2 คน และไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน และเสนอตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาฯ จำนวน 25 คน กำหนดกรอบเวลาในการแปรญัตติ 7 วัน
สำหรับร่างพ.ร.บ.ที่มีการแก้ไขทั้งหมดเสนอจากส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล รวม 7 ฉบับ ประกอบด้วย พรรคชาติไทยพัฒนา , พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคภูมิใจไทย เนื้อหาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แก้ปัญหา ที่เกิดกับชาวประมงมากที่สุดในปัจจุบัน เพื่อฟื้นการประมงพาณิชย์ไทย และทำให้ประมงพื้นบ้าน สามารถเดินหน้าประกอบอาชีพได้คล่องตัวยิ่งขึ้น บนพื้นฐานมาตรการที่สอดคล้องกับ IUU Fishing หรือการทำประมงที่ไม่ผิดกฎหมาย มีการรายงาน และมีการควบคุม
แต่เนื่องจากมีผู้เสนอกฎหมายฉบับนี้หลายฉบับ ทำให้มีผู้เสนอญัตติให้พิจารณาว่าที่ประชุมจะรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับใด ซึ่งมีสมาชิกอภิปรายให้พิจารณารับหลักการร่างฯ ฉบับที่มีเนื้อหาครอบคลุมตามความต้องการของชาวประมง
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เสนอให้นำหลักการของร่างฯ ทุกฉบับมาพิจารณาประกอบ เพราะที่ผ่านมา กมธ.เสียงข้างมากจะอ้างแต่ร่างฯ ฉบับหลักเท่านั้น
ขณะที่มี ส.ส.เสนอให้ใช้ร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอโดยนางกันตวรรณ ตันเถียร ประธาน กมธ.การเกษตร และคณะ เป็นหลักในการพิจารณา เพราะมีตัวแทนจากทุกพรรคการเมือง แต่มี ส.ส.ที่เห็นว่าควรใช้ร่างฯ ที่มาจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้รับฟังความคิดเห็นจากชาวประมง แต่ร่างฯ ที่มาจาก กมธ.จะมีการครอบงำจากหน่วยงานราชการ
หลังเปิดให้สมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นจบแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเลือกร่างฯ ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว และคณะ เป็นร่างหลักในการพิจารณา ด้วยคะแนนเสียง 140 ต่อ 137
ส่วนร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาไม่แล้วเสร็จในวาระที่ 3 ทั้ง ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง , ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต, ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม และร่างกฎหมายอื่นๆ ให้ถือว่าเป็นอันตกไป เว้นแต่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะร้องขอให้สภาพิจารณาต่อได้ โดยคณะรัฐมนตรีจะต้องร้องขอต่อสภาภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีรัฐพิธีเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง