นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม. มี 3 เรื่อง ที่จะเสนอก่อนจะมีการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งหากมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเห็นด้วย และนำข้อเสนอดังกล่าวไปเป็นนโยบาย จะทำให้ประชาชนมีโอกาสพิจารณานโยบายก่อนการเลือกตั้ง แต่หากกทม. นำเสนอหลังจากผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว ประชาชนก็จะไม่มีโอกาสได้เลือกว่าชอบนโยบายใด ซึ่งการเสนอเชิงนโยบายนี้ เป็นวิธีหนึ่งตามระบอบประชาธิปไตย สำหรับข้อเสนอแก่รัฐบาลชุดหน้า มีดังนี้
1. เสนอปรับและพิจารณาแผนย้ายท่าเรือคลองเตย : สำหรับแนวคิดการย้ายท่าเรือคลองเตย อยู่ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขมลพิษด้านฝุ่นละออง อย่างไรก็ตาม อาจยังไม่มีการดำเนินการจริงจัง เนื่องจากการย้ายท่าเรือคลองเตยไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาระยะยาวเป็น 10 ปี ซึ่งปัจจุบัน มีการวัดปริมาณฝุ่นบริเวณคลองเตย และดูผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ท่าเรือแหลมฉบัง ได้มีการบริหารจัดการเป็นกรีนพอร์ต คือเป็นพอร์ตซึ่งมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมีการทำรถไฟเชื่อมมาที่ ICD ลาดกระบัง เป็นการเพิ่มการขนส่งทางรถไฟมากขึ้น ทั้งนี้ มองว่าน่าจะตอบโจทย์ หากมีตู้คอนเทนเนอร์ไปลงที่แหลมฉบังมากขึ้น
"ปัจจุบันเข้าใจว่าตู้ที่ไปแหลมฉบังมีประมาณ 10 ล้านตู้ ที่กรุงเทพฯ ประมาณ 1 ล้านตู้ หรือแค่ประมาณ 10% การย้ายไปก็น่าจะสามารถทำได้ ซึ่งถ้าฝ่ายรัฐบาลรับแนวคิดนี้ไป ก็ต้องมองทั้งแง่บวกและแง่ลบอื่นๆ ประกอบ เช่น เรื่องการจ้างงาน เป็นต้น ดังนั้น คงต้องคิดให้รอบด้านอีกครั้งหนึ่ง" นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวว่า การเสนอแนวคิดดังกล่าว เป็นเพียงการเสนอให้นำแผนวาระแห่งชาติมาปรับหรือพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งเข้าใจว่ามีบางส่วนไม่อยากให้ย้าย จึงต้องให้รัฐบาลมาช่วยพิจารณา เนื่องจากอยู่นอกเหนืออำนาจของกทม. แต่ถ้ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งนำนโยบายนี้ไปเสนอให้ประชาชนพิจารณาด้วย ก็จะถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับประชาชน
"เราคิดว่าถ้าย้ายท่าเรือคลองเตยไปได้ ก็จะมีผลดีจากการที่เรือที่ไม่ต้องเข้ามา จำนวนรถบรรทุกก็น้อยลง ซึ่งจะส่งผลต่อการบำรุงรักษาถนนและการจราจรที่ดีขึ้น ลดมลพิษที่เกิดขึ้นจากการขนส่ง ตลอดจนมีพื้นที่ที่มีศักยภาพ สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว หรือปอดแห่งใหม่กลางเมืองด้วย" นายชัชชาติ กล่าว
2. เสนอยกถนนเป็นแนวกั้นน้ำทะเลหนุน : แผนรับมือน้ำทะเลสูง ซึ่งเป็นแผนที่คิดจะเสนอรัฐบาลต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่างทำแนวคิด เนื่องจากเรื่องการยกตัวของน้ำทะเล อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต โดยมีแนวคิด คือการทำแนวกันน้ำริมอ่าวไทย โดยจะเป็นการยกถนนของทางหลวงชนบท ถนนที่อยู่ริมอ่าวไทย ถนนสุขุมวิทสายเก่า เพื่อทำเป็นแนวกั้นน้ำ ซึ่งคาดว่าใช้งบไม่มาก เนื่องจากเป็นถนนที่มีอยู่แล้ว แค่ทำให้ยกระดับขึ้น และอาจมีการเชื่อมต่อกับตัวกั้นน้ำหรือแบริเออร์กันน้ำเหมือนที่ต่างประเทศทำ เพื่อป้องกันเวลาน้ำทะเลหนุน
"ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเป็นคนช่วยคิดด้วย ในส่วนของ กทม. มีชายทะเลอยู่แค่ประมาณ 4-5 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม เรื่องแนวกั้นน้ำคงเป็นเรื่องที่รัฐบาลเป็นผู้ทำ โดยต้องคิดเป็นนโยบาย ซึ่งเรื่องนี้ก็จะต่อเนื่องกับการย้ายท่าเรือ คือ เมื่อเรือใหญ่เข้ามาในแม่น้ำน้อยลง การคิดเรื่องการป้องกันน้ำทะเลหนุนก็จะสะดวกขึ้น แต่ถ้ายังมีเรือใหญ่เข้ามาอยู่จำนวนมาก การจะกั้นน้ำก็จะต้องเว้นไว้ให้เรือเข้า-ออก ดังนั้น 2 เรื่องนี้จะต้องจัดทำแนวคิดเสนอรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลไปถกข้อดีข้อเสียต่อไป" นายชัชชาติ กล่าว
3. เร่งสำรวจพื้นที่โซนสีแดง ที่ไม่มีเจตนาทำการเกษตรที่แท้จริง เพื่อเสนอเก็บภาษีอัตราพิเศษ : ในส่วนของเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถือเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะกทม. ท้องถิ่นทุกที่ก็มีปัญหาเรื่องนี้ แต่กทม. มีพื้นที่เชิงพาณิชย์ไปทำเกษตร ปัจจุบัน สำนักงานเขตอยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลขแปลงที่ดินที่ทำเกษตรแต่มีเจตนาไม่ได้ทำเกษตรแท้จริงว่ามีเท่าไร เพราะมีผลต่อการเก็บภาษีที่หายไปค่อนข้างมาก
นายชัชชาติ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยเสนอแนวคิดว่า พื้นที่เกษตรที่อยู่ในโซนสีแดงขอเก็บภาษีอัตราพิเศษ เพราะอยู่ในพื้นที่พาณิชย์ไม่ควรทำการเกษตร แต่กระทรวงการคลังยังไม่อนุญาต
"ต้องคิดให้รอบคอบ ไม่ให้กระทบกับเกษตรกรตัวจริง ซึ่งกทม. มีเกษตรกรตัวจริงอยู่ในพื้นที่หนองจอก มีนบุรี จำนวนมาก ขณะเดียวกัน ไม่อยากให้กฎหมายนี้ถูกใช้ผิดไปจากเจตนารมย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เรื่องนี้อยู่นอกอำนาจของเรา แต่เป็นตัวช่วยหนึ่งที่เสนอในเชิงนโยบายได้" นายชัชชาติ กล่าว