ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่ให้นำจำนวนคนต่างด้าวมาใช้ในการคำนวณ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และไม่มีผลย้อนหลังไปถึงการเลือกตั้งสมาชิก ส.ส.ที่ผ่านมา
"ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 (1) ที่กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งนั้น คำว่า "ราษฎร" ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่งและวรรคสาม และไม่มีผลย้อนหลังไปถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา" คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ
โดยวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ กกต.ในการประกาศจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดตามรัฐธรรมนูญ
เนื่องจากที่ผ่านมา กกต.คิดคำนวณจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีจากจำนวนราษฎรทั้งประเทศ โดยยึดหลักฐานทะเบียนราษฎร์ที่สำนักทะเบียนกลางได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.ของปีที่ล่วงมา ซึ่งมีผู้แสดงความคิดเห็นโต้แย้งว่าการที่ กกต.นำจำนวนคนต่างด้าวมารวมคำนวณไว้ด้วยไม่ถูกต้อง พร้อมทั้งขอให้ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยให้เกิดความชัดเจน จะได้ไม่มีการร้องเรียนตามมาในภายหลัง
ทั้งนี้ หากไม่นับรวมราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส.ใน 8 จังหวัด โดย 4 จังหวัดที่มีคนต่าวด้าวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากจะมี ส.ส.ลดลง และทำให้อีก 4 จังหวัดมี ส.ส.เพิ่มขึ้น
โดยจังหวัดที่จะมีจำนวน ส.ส.ลดลง จังหวัดละ 1 คน ได้แก่ จ.ตาก ลดจาก 4 คน เหลือ 3 คน, จ.เชียงราย ลดจาก 8 คน เหลือ 7 คน, จ.เชียงใหม่ ลดจาก 11 คน เหลือ 10 คน และ จ.สมุทรสาคร ลดจาก 4 คน เหลือ 3 คน
ส่วนจังหวัดที่จะมีจำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้น จังหวัดละ 1 คน ได้แก่ จ.อุดรธานี เพิ่มจาก 9 คน เป็น 10 คน, จ.ลพบุรี เพิ่มจาก 4 คน เป็น 5 คน, จ.นครศรีธรรมราช เพิ่มจาก 9 คน เป็น 10 คน และ จ.ปัตตานี เพิ่มจาก 4 คน เป็น 5 คน
หลังการแบ่งเขตใหม่ในกรณีนี้จะทำให้ ภาคใต้มี ส.ส.เพิ่มขึ้นจาก 58 คน เป็น 60 คน คือ เพิ่มขึ้นที่ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.ปัตตานี จังหวัดละ 1 คน ขณะที่ภาคอีสานมี ส.ส.เพิ่มขึ้นจาก 132 คน เป็น 133 คน คือ เพิ่มขึ้นที่ จ.อุดรธานี 1 คน ภาคเหนือมี ส.ส.ลดลงจาก 39 คน เหลือ 36 คน คือ ลดลงที่ จ.ตาก เชียงราย และ เชียงใหม่ จังหวัดละ 1 คน และ ภาคกลาง ลดลงจาก 89 คน เหลือ 88 คน คือ ลดลงที่ จ.สมุทรสาคร 1 คน