สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกประกาศการกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดจะพึงมีใหม่ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่ให้นำจำนวนคนต่างด้าวมาใช้ในการคำนวณ ส.ส.
ดังนั้นทางสำนักงานกกต. จึงได้เสนอให้กกต.พิจารณากำหนดจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตกรณีใช้จำนวนราษฎรสัญชาติไทย โดยพิจารณาจากจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งมีจำนวน 65,106,481 คน จึงมีจำนวนราษฎรโดยเฉลี่ยประมาณ 162,766 คน ต่อจำนวนส.ส. 1 คน ซึ่งกกต.มีมติเห็นชอบและจะจัดทำและประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 3 รูปแบบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดเป็นเวลา 10 วัน ในระหว่างวันที่ 4-13 มีนาคม 66
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดจะพึงมี เพื่อเป็นการเตรียมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้น ดังนี้
1. จำนวนราษฎรสัญชาติไทยทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565มีจำนวน 65,106,481 คน
2. จำนวนราษฎรโดยเฉลี่ย 162,766 คน ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคน
3. จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ที่คำนวณเฉพาะราษฎรสัญชาติไทย ทำให้จำนวน สส.เปลี่ยนแปลงใน 8 จังหวัด แบ่งเป็นจังหวัดที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลดลง 4 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย จาก 8 ลดเหลือ 7 คน เชียงใหม่ จาก 11 ลดเหลือ 10 คน ส่วน ตากและสมุทรสาคร ตาก จาก 4 ลดเหลือ 3 คน
ส่วนจังหวัดที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพิ่มขึ้น 4 จังหวัด ประกอบด้วย อุดรธานี และ นครศรีธรรมราช จาก 9 เพิ่มเป็น 10 คน ลพบุรี และปัตตานี จาก 4 เพิ่มเป็น 5 คน