4 ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.หญิง กทม. พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ประกอบด้วย น.ส.ศิรินันท์ ศิริพานิช, นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี, น.ส.ณัฐวรินธร บวรภัควุฒิศิริ และ น.ส.พัชรนันท์ โกศลสมบัตินนท์ ร่วมทำกิจกรรมลงพื้นที่รณรงค์สิทธิสตรี เนื่องในวันสตรีสากล โดยเยี่ยมเยียนให้กำลังใจสตรีทุกวัย พร้อมหาแนวทางช่วยเหลือสนับสนุนผู้หญิงตามแนวคิด "พลังสตรี และเด็กหญิง ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยี สู่ความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างยั่งยืน" ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
น.ส.ศิรินันท์ ศิริพานิช กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความเท่าเทียมในเรื่องสิทธิสตรีมากขึ้นในหลายๆ ด้าน ผู้หญิงมีพื้นที่ในสังคมแต่ยังมีบางจุดที่ตนอยากจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เช่น การส่งเสริมให้ผู้หญิงรับทราบถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเอง ที่ผ่านมา รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ดำเนินการมาตลอด เช่น โครงการมารดาประชารัฐ มีเงินช่วยเหลือและสิทธิพิเศษให้เด็กแรกเกิดจนถึง 6 ปี เช่น เงินช่วยเหลือหลังคลอด 600 บาทต่อเดือน เงินช่วยเหลือการตรวจโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย และภาวะดาว์นซินโดรมในเด็กทารกในหญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น
โดยมีแนวคิดในการลดเงื่อนไขการรับสิทธิ เพื่อขยายสิทธิให้เข้าถึงสตรีในกลุ่มต่างๆ มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยังมีการจำกัดฐานรายได้ของผู้หญิงที่จะได้รับบริการนี้ ได้แก่ สตรีวัยทำงานที่มีรายได้ไม่เพียงพอ เช่น กลุ่มสตรีที่เป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีเงินเดือนน้อย ทำให้ไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว ซึ่งหากมีโอกาสได้เข้าไปทำงานเป็นตัวแทน ก็อยากจะผลักดันให้ขยายกลุ่ม โดยการเพิ่มโอกาสให้กับสตรีกลุ่มนี้ด้วย
"กลุ่มเปราะบางอีกกลุ่ม คือ กลุ่มผู้หญิงที่ติดเชื้อ HIV ไม่ว่าจะติดจากคู่สมรสหรือไม่ อยากให้ผู้หญิงกลุ่มนี้ได้รับโอกาสในสังคม ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เราต้องให้ความรู้เกี่ยวกับสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้กับผู้หญิงทุกคน เช่น การตรวจเชื้อ HIV ฟรี ปีละ 2 ครั้ง เพื่อความปลอดภัย เพราะ HIV รู้ไว รักษาทัน และในส่วนของการบริการด้านสุขภาพของรัฐก็ให้การรักษาเป็นอย่างดีด้วย" น.ส.ศิรินันท์ กล่าว
ด้าน นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี กล่าวว่า ผู้หญิงได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานได้เทียบเท่าผู้ชายในสายอาชีพต่างๆ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่มองว่ายังมีอีกหลายจุดที่ควรได้รับการส่งเสริม เช่น กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่แม้ว่าจะสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ยังมีข้อจำกัด เพราะต้องทำงานและยังต้องเลี้ยงดูลูกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีลูกเล็กๆ ทำให้บางครั้งไม่สามารถที่จะมีอาชีพที่มั่นคงได้
ดังนั้นอยากแนวทางส่งเสริมให้ผู้หญิงกลุ่มนี้สามารถทำงานเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างเหมาะสมกับชีวิตความเป็นอยู่ แนวทางหนึ่งที่คิดว่าสามารถทำได้ และพยายามจะผลักดัน คือ การทำให้เกิดข้อกำหนดทางกฎหมาย หรือข้อบังคับเพื่อสามารถช่วยเหลือกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น การออกข้อกำหนดหรือสิทธิพิเศษให้ภาคธุรกิจหรือเอกชน ที่ให้ความช่วยเหลือ หรือสนับสนุนให้แม่เลี้ยงเดี่ยวสามารถทำงานได้โดยไม่มีข้อกังวล เช่น การจัดให้มีเนิร์สเซอรี่ในที่ทำงาน เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน
นางรัดเกล้า กล่าวว่า อยากผลักดันให้เพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในการทำงานให้กับผู้หญิง ปัจจุบันในบริษัทหรือองค์กรใหญ่ๆ เช่น บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็มีข้อกำหนดเหล่านี้บรรจุใน DJSI ที่มีเกณฑ์กำหนดเกี่ยวกับการให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมระหว่างชายหญิง โดยไม่ได้ดูแค่จำนวนการทำงานของผู้หญิงในบริษัทเท่านั้น แต่ยังมีเกณฑ์ลงลึกไปถึงความสามารถ หรือการเติบโต หรือตำแหน่งในหน้าที่การงานของผู้หญิงด้วย ดังนั้นตนจึงคิดว่าในการทำงานของผู้หญิง โดยเฉพาะในภาคของการเมือง ควรจะมีการส่งเสริมผู้หญิงในการทำงานระดับกลไกนี้ด้วยเช่นกัน
ขณะที่ น.ส.พัชรนันท์ โกศลสมบัตินนท์ กล่าวว่า ตามแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการให้เกิดความเสมอภาคแบบยั่งยืนระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย และยังเป็นไปตามนโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติที่จะเห็นได้ว่า พรรคเองก็ให้ความสำคัญกับการทำงานของผู้หญิง และมีว่าที่ผู้สมัครหญิงหลายคน ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน อยากให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญเรื่องนี้เช่นกัน โดยในส่วนของตน อยากให้มีนโยบายสนับสนุนผู้หญิงในทุกช่วงวัย และไม่ว่าทุกคนจะมาจากไหน อยากให้ออกมาแสดงความสามารถ ภายใต้การส่งเสริมของทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน
ส่วน น.ส.ณัฐวรินธร บวรภัควุฒิศิริ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้หญิงได้รับการยอมรับมากขึ้นตามแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศ ถือเป็นนโยบายสำคัญที่จะทำให้ผู้หญิงมีความเท่าเทียมกันในสังคม ซึ่งในการทำงานของตนก็มีแนวคิดที่อยากจะขับเคลื่อน ส่งเสริมผู้หญิงให้มีความเท่าเทียมเสมอภาคกันระหว่างหญิงชายในทุกภาคส่วนของสังคม รวมถึงความเท่าเทียมกันในองค์กร บริษัท ที่ทำงานต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมายังคงพบว่ามีการละเมิดสิทธิ การปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากนายจ้าง หรือผู้ร่วมงานด้วยกันเอง ดังนั้นจึงอยากเป็นตัวแทนของผู้หญิงเรียกร้องให้ทุกคนปฏิบัติต่อผู้หญิงรวมถึงทุกคนอย่างเสมอภาค