เครือมติชน จัดเวทีเลือกตั้ง'66 บทใหม่ประเทศไทย ในหัวข้อ "ย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็ง" โดยมีตัวแทนจาก 8 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคชาติพัฒนากล้า, พรรคภูมิใจไทย, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติไทยพัฒนา และ พรรคไทยสร้างไทย ร่วมประชันนโยบายและแสดงวิสัยทัศน์
โดยในรอบ 1 เป็นการ"ย้ำจุดยืน" ในหมวดการเมือง สังคม ได้แก่
- นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล กล่าวว่า มาตรา 112 และ 116 ปัจจุบันในเชิงการบังคับใช้ และเชิงเนื้อหาสาระกฎหมาย เป็นอุปสรรคเสรีภาพในการแสดงออก พรรคจึงมีการนำปัญหามาทบทวนเพื่อหาทางออกเพื่อให้กฎหมายทั้งสองฉบับมีการแก้ไข ซึ่งพรรคมองว่ามี 3 ปัญหาที่ควรมีการแก้ไข ดังนี้
1.การบังคับใช้ มีหลายครั้งที่นำมาใช้กรณีที่ไม่ใช่การหมิ่นประมาท เช่น ไม่กี่ปีที่แล้วมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีและตัดสินว่าผิดจากการแชร์บทความของสำนักข่าวหนึ่ง ข้อเสนอ คือ ควรเขียนบทกฎหมายให้ชัดเจน เพื่อคุ้มครองการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งไม่ต่างจากกฎหมายหมิ่นบุคคลธรรมดา โดยต้องมีการเขียนโทษและความผิดให้ชัดเจนว่า ถ้าเป็นการพูดความจริง เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เป็นการติชมโดยเป็นธรรม สามารถกระทำได้
2.ความหนักของโทษสูงกว่ามาตรฐานสากลเป็นอย่างมาก จึงเสนอให้ลดโทษจำคุกให้เหลือ 0-1 ปี
3.แก้ไขเรื่องสิทธิ์ในการร้องทุกข์กล่าวโทษ เนื่องจากอาจเกิดกรณีกลั่นแกล้งทางการเมืองได้ หรือกรณีนักการเมืองหรือข้าราชการที่ทำการทุจริต นำชื่อโครงการเฉลิมพระเกียรติมาบังหน้าหวังให้ผู้อื่นกลัว และสร้างชื่อเสียแก่สถาบัน ข้อเสนอ คือ การจำกัดเรื่องสิทธิ์ให้เป็นตัวแทนของผู้เสียหาย หรือพระมหากษัตริย์มีสิทธิ์ในการร้องทุกข์กล่าวโทษเพียงผู้เดียวเท่านั้น
ทั้งนี้ เชื่อว่าถ้ามีการปรับปรุงดังกล่าว จะทำให้ไทยมีกฎหมายคุ้มครองประมุขฐานหมิ่นประมาทที่สามารถพัฒนาและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประชาชนและพระมหากษัตริย์ ส่วนมาตรา 116 เป็นกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการแสดงออก มีการเขียนกฎหมายค่อนข้างกว้างเรื่องการเข้าข่ายยุยงปลุกปั่น ข้อเสนอ คือ ให้มีการทบทวนเพื่อจำกัดนิยามให้แคบลง เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม
- นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านนโยบายและเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จุดยืนเรื่องประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญ โดยเห็นด้วยว่ามีหลายจุดต้องแก้ ลดโทษ และแก้สิทธิ์ผู้ที่นำเสนอ ในส่วนของกระบวนการนำไปใช้กฎหมาย ก็มีหลายคณะกรรมการกลั่นกรอง และต้องแก้ไขโดยเข้าสภาฯ และหารือกัน โดยยึดมั่นในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมือง พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขได้ หากนำมาใช้และไม่สามารถขับเคลื่อนตามเจตนารมณ์ของผู้ร่าง หรือเกิดข้อถกเถียงขึ้น อย่างไรก็ตามหัวใจสำคัญคือต้องเกิดประโยชน์ต่อประชาชน ส่วนกรณี ส.ว.ต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี ฉบับปี 2560 หลายฝ่ายกังวลเรื่อง ส.ว. แต่ตามรัฐธรรมนูญ ส.ว.จะไม่มีบทบาท ถ้าสภาล่างรวมตัวได้มากกว่า 250 เสียง ซึ่งหากพรรคมีเสียงมากพอได้เป็นรัฐบาล จะแก้ไขสิ่งที่เคลือบแคลงให้ประชาชน สิ่งที่กังวลคือ ไม่อยากเห็นการเลือกตั้งครั้งนี้หยิบจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ และจุดอ่อนพรรคการเมืองมาสร้างความแตกแยก
- นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคฯ เมื่อตอนลงประชามติปี 2560 ประกาศชัดว่าไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนั้น เนื่องจากไม่เป็นประชาธิปไตยสากล และยังมีประเด็นที่ต้องแก้ไข
ทั้งนี้ เมื่อพรรคฯ เข้าร่วมรัฐกับพปชร. ประกาศชัดเจนว่าต้องมีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1. ต้องรับนโยบายประกันรายได้เกษตรกร 2. บริหารนโยบายแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และ 3. ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ถ้าในอนาคตมีการแก้รัฐธรรมนูญ พรรคไม่ขัดข้อง แต่ต้องไม่แก้ 2 หมวด คือ หมวด 1 ว่าด้วยรูปแบบของรัฐ ไม่เปลี่ยนแปลงว่าไทยต้องเป็นรัฐเดี่ยว และปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และหมวด 2 ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์
-นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า มองว่า กองทัพมีภารกิจเรื่องความมั่นคง เป็นส่วนราชการทั่วๆ ไป โดยรัฐธรรมนูญ หมวดการปฏิรูป มาตรา 258 รัฐบาลมีหน้าที่ปรับปรุงปฏิรูปราชการแผ่นดินให้ทันสมัย ดังนั้นการปฎิรูปกองทัพก็เป็นเรื่องปกติ ในส่วนของพรรคฯ มีความเห็นเรื่องการเกณฑ์ทหารว่า ควรทำให้กระบวนการในเกณฑ์ทหารเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ที่ดี เป็นอาชีพหนึ่ง ตำแหน่งหน้าที่ดี ก้าวหน้า เพื่อให้ผู้ที่อยากเป็นทหารมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องมีการเกณฑ์ทหาร
ส่วนเรื่องของการลงทุนของกองทัพ ปัจจุบันประเทศมีปัญหาเรื่องหนี้สินประเทศ หนี้ครัวเรือน ดังนั้น ต้องใช้งบอย่างมีประสิทธิภาพ ในเรื่องกองทัพอาวุธใช้เงินจำนวนมาก จึงต้องคิดให้รอบคอบ ถึงความจำเป็น และคำนึงเรื่องงบประมาณ ชี้แจงอย่างโปร่งใส ขณะเดียวกัน กองทัพมีสินทรัพย์จำนวนมากที่เกิดจากภาษีและงบประมาณต่างๆ ดังนั้น ควรมีนโยบายใช้สินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ทำให้ทหารเป็นที่ยอมรับ เช่น ช่วงน้ำท่วม ทหารได้นำเครื่องมือต่างๆ มาใช้ช่วยประชาชน
- นายพริษฐ์ จากพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การปฏิรูปกองทัพของพรรคฯ มี 5 เป้าหมาย คือ
1.ทำให้กองทัพไม่แทรกแซงการเมือง โดยพอมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะมีการเขียนข้อบัญญัติเพื่อปิดช่องป้องกันไม่ให้ทำรัฐประหาร และยกเลิกกลไกพิเศษที่กระทรวงกลาโหมมี เช่น สภากลาโหม บอร์ดแต่งตั้งนายพล
2.กองทัพต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ โดยจัดตั้งผู้ตรวจการกองทัพ ที่ยึดโยงกับสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของกองทัพ และเพิ่มความโปร่งใสของธุรกิจกองทัพ โดยการดึงธุรกิจเหล่านั้นมาอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนเห็นรายได้
3.ทำให้กองทัพเท่าทันโลก โดยการลดขนาดกองทัพ 30-40% เพราะภัยคุกคามต่อการมั่นคงเปลี่ยนรูปแบบ และยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ใช้ความสมัครใจ
4.ทำให้ทหารไม่ถืออภิสิทธิ์เหนือประชาชนหรือพลเรือน เนื่องจากมีสวัสดิการหลายส่วนที่มากกว่าพลเรือนทั่วไป เช่น ค่าใช้จ่ายรถประจำตำแหน่ง
4.ทำให้พลทหารทุกระดับ มีความปลอดภัย มั่นคง ไม่ถูกธำรงวินัย และมีอนาคตนาการก้าวหน้าได้
- นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคเห็นด้วยในการนิรโทษกรรมผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง แต่ไม่เห็นด้วยต่อผู้ที่ทุจริตต่อบ้านเมือง คอร์รัปชัน และสร้างความแตกแยก รวมทั้งทำลายทรัพย์สินของบ้านเมือง
ทั้งนี้ ต้องดูเป็นกรณีไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ในทางการเมืองถ้ามีความเห็นต่าง เช่น บางคนใช้สิทธิไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ถือเป็นสิทธิของเขาในการเป็นตัวแทนของประชาชน ซึ่งหลายครั้งมีการลงโทษตัดสิทธิ์ต่างๆ ตามการตีความของกฎหมาย ซึ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้ง ช่องว่างมากขึ้น
อย่างไรก็ดี มองว่า การเลือกตั้งในปี 66 จะเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เนื่องจากไม่มีการเปลี่ยนผ่าน หรือมีตัวเลือกที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นการรีเซ็ตระบบของการอยู่ด้วยกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจน เท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- นายศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า การนิรโทษกรรม แบ่งเป็นสองส่วน คือ 1. นิรโทษกรรมต่อประชาชน ที่เข้าร่วมหรือแสดงความเห็นทางการเมือง ที่ทำให้เกิดการผิดกฎหมายของบ้านเมือง มองว่าการนิรโทษกรรมจะทำให้คนสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติ และเข้าสังคมได้ และ 2. บุคคลสำคัญ ที่ทำให้การเมืองไทยติดหล่ม จุดสำคัญคือการนิรโทษกรรมบุคคลที่คนเห็นว่าไม่ผิดหรือไม่ผิด พิจารณาในมาตรฐานสากลที่ทุกคนยอมรับ
- นพ.พรหมินทร์ จากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เชื่อมั่นว่ากัญชาใช้ทางการแพทย์ได้ และเป็นทางเลือกที่ประเทศอื่นไม่มี ถ้าการใช้กัญชานอกเหนือจากนี้ต้องมีกฎหมายควบคุมให้ชัดเจน ส่วนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ต้องมีการควบคุมอย่างดีเนื่องจากมีโทษมากกว่าบุหรี่ปกติ
ในส่วนของสุราเสรี ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ สมุนไพรหรือพืชสามารถนำมาเป็นส่วนผสมในการผลิตสุราได้ทั้งนี้ เพื่อให้ไม่ให้เกิดปัญหา ต้องแบ่งสุราเป็นสามระดับ คือ 1. สุราพื้นบ้าน 2. สุราเสรี ซึ่งจะต้องมีกฎหมายอีกระดับ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการสร้างสรรค์ และผลิต เพื่อสร้างเศรษฐกิจ และ 3. สุราขนาดใหญ่
- นายอนุทิน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า กัญชาเสรีทางการแพทย์และเศรษฐกิจ ถ้าพรรคฯ ได้เป็นแกนนำ กฎหมายนี้ต้องผ่านเพราะเป็นกฎหมายที่มีประโยชน์ การใช้ที่ไม่ถูกต้องก็จะต้องถูกจำกัด ส่วนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้านั้น ไม่สามารถทำให้ถูกกฎหมายได้ ในส่วนเรื่องสุราเสรีก็ต้องมีการจำกัดการใช้ มีการควบคุมให้ถูกต้อง
- นายจุรินทร์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากเป็นการบั่นทอนการปกครองระบอบประชาธิปไตย และบั่นทอนประเทศ เช่น แทนที่จะสร้างถนนได้ 100 สายเหลือ 30 เสียงเพราะคอร์รัปชันไป 70 ส่วนธุรกิจสีเทาก็เป็นอีกปัญหาที่เกิดจากการทุจริตของผู้คุมอำนาจรัฐหลายระดับที่เปิดให้มีการทำผิด
ทั้งนี้ มองว่าที่มาของการทุจริต คือ การซื้อสิทธิ์ขายเสียง การประมูลตัวผู้แทนราษฎรเข้าพรรค และกระบวนการยุติธรรมประชาชน ต้องดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาทั้งข้าราชการระดับล่างและบน และไม่จำเป็นก็ไม่ควรให้มีผู้ที่มีส่วนได้เสียเป็นคณะกรรมการ เมื่อเกิดการทุจริตก็ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และมีการลงโทษอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่สามารถปราบโกงได้ เพราะมี 2 ศาล ซึ่งสามารถยื่นอุทธรณ์ได้
- นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญของคอร์รัปชันและธุรกิจสีเทา เกิดจากการที่คนคิดว่ากฎหมายและบทลงโทษไม่รุนแรง และการบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มข้น
ทั้งนี้ พรรคฯ มองว่า 1. ควรเพิ่มบทกฎหมายและบทลงโทษให้รุนแรง และกระบวนการตรวจสอบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ก็ต้องโปร่งใส สามารถตรวจสอบที่มาของผู้ตรวจสอบได้ และ 2. เวลาพิจารณาคดีความคอร์รัปชันต้องดำเนินด้วยความรวดเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดธุรกิจสีเทาเพิ่ม
- นายวราวุธ หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า ปัญหา PM 2.5 ในส่วนของเมืองกรุง แหล่งที่มา 70% มาจากท้องถนน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะ เครื่องยนต์ ต้องมีการออกกฎหมายให้เข้มงวด และหน่วยงานที่ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายก็ต้องเข้มงวดเช่นกัน ในส่วนของกทม. ถ้าฝุ่นเกินมาตรฐานก็จะประกาศให้ทำงานที่บ้าน ในส่วนของต่างจังหวัด แบ่งเป็น 3 พื้นที่ คือ
1.พื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรือพื้นที่อุทยาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูแลพื้นที่อุทยาน ตอนนี้ประกาศปิดไปแล้ว 6-10 อุทยานในภาคเหนือ
2.พื้นที่ป่าสงวน คือ ภารกิจการดับไฟป่า ถูกโอนไปให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ดังนั้น เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ จะต้องเร่งดำเนินการและตั้งงบประมาณ และดำเนินการตามหน้าที่ เนื่องจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้มีหน้าที่ในส่วนนี้แล้ว
3.พื้นที่การเกษตร ที่มีการเผาไหม้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปพูดคุยกับเกษตรกร
ดังนั้น ทุกหน่วยงานต้องทำงานในหน้าที่ตามบทบาทที่กำหนดไว้ชัดเจน อีกประเด็นที่ควบคุมไม่ได้คือสภาพดินฟ้าอากาศ ซึ่งการทำงานควบคู่กับประเทศเพื่อนบ้านเป็นเรื่องสำคัญ กระทรวงการต่างประเทศก็ต้องขอความร่วมมือจากต่างประเทศ ทั้งนี้ พอเกิดปัญหา PM 2.5 ทุกคนได้รับผลกระทบร่วมกัน ในส่วนของพรรคการเมืองก็ต้องมีนโยบายจัดการให้ชัดเจน ประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกัน
- นายสุวัจน์ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือ 1.เข้มงวดเรื่องผังเมือง โซนที่อยู่อาศัยก็ต้องใช้เฉพาะอยู่อาศัย แยกกับโซนอุตสาหกรรม และแก้ปัญหา PM 2.5 ตามพื้นที่ที่เกิด 2.ต้องใช้น้ำมันให้ลดลง ผลิตน้ำมันให้มีคุณภาพ 3.รถยนต์ไฟฟ้า 4.การก่อสร้างไม่มีมาตรการกันฝุ่น 5.การติดขัดทางจราจร 6.อุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าที่ยังใช้น้ำมันเตา ต้องปรับมาใช้พลังงานทดแทน และ 7. รณรงค์ลดไม่เผาป่า
ทั้งนี้ พรรคฯ มีนโยบายเรื่อง Green Economy ที่ชัดเจน ในการสนับสนุนฟุตปรินต์ คาร์บอนเครดิต และอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
- นายศิธา เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ในระบอบประชาธิปไตย สิ่งสำคัญคือการกระจายอำนาจ ให้ชุมชนได้ปกครองและพัฒนาตนเอง ซึ่งไทยมีการพยายามกระจายงบประมาณไปยังท้องถิ่น และเลือกบุคคลในการบริหารท้องถิ่น ดังนั้น การกระจายอำนาจสำคัญในการทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีจุดแข็งคือวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งส่วนกลางไม่สามารถเข้าไปรู้รายละเอียดได้ งบประมาณไม่ตรงจุดกับการแก้ปัญหาให้ประชาชน ทำให้โอกาสในการพัฒนาไปได้ช้า ในเรื่องการแต่งตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านต้องให้ในท้องถิ่นเป็นคนเลือก แต่ยังมีปัญหาเรื่องการนำงบประมาณไปใช้ เพราะงบยังรวมอยู่ที่ส่วนกลาง
ในส่วนของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือจะเลือกตั้งนายกอบจ. ให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้การใช้งบประมาณไม่ซ้ำซ้อน สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นจนถึงระดับผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ต้องมีการพูดคุยเรื่องกระบวนการเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้ได้ตัวแทนที่เหมาะสมว่า ได้คนที่ประชาชนต้องการจริง หรือได้คนที่มาจาก 3 ส่วน คือ 1. กระแส ความนิยมพรรคการเมือง 2. กระสุน ใครมีเงินมากก็นำมาจ่ายมาก และ 3. บ้านใหญ่ ผู้ที่มีคอนเน็กชัน หัวคะแนนก็ชนะเลือกตั้ง
- นายสนธิรัตน์ ประธานยุทธศาสตร์การเมือง พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ความมั่นคงและความเจริญของประเทศคือการกระจายอำนาจ แต่กระบวนการนี้ยังไปไม่สุด มีข้อจำกัดในการบริหารจัดการ ผู้ที่อยู่ใกล้ประชาชนและเข้าใจปัญหาของพื้นที่มากที่สุด คือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านสู่การกระจายอำนาจ หลักการรวมศูนย์ต้องถูกลดบทบาทลง
ขณะเดียวกัน ที่มาของอำนาจต้องไม่ให้การเมืองไปครอบงำ อย่างไรก็ดี เชื่อว่าถ้าให้อำนาจในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาเต็มที่ เทศบาลหรือท้องถิ่นใดที่บริหารได้ดีก็จะเกิดการเปรียบเทียบ เป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเห็นการเลือกผู้นำที่สามารถแก้ปัญหาได้ ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นโมเดลที่สำคัญ แต่ไม่ได้เลือกตั้งทั้งประเทศ เลือกเฉพาะจังหวัดที่มีความพร้อมและศักยภาพ เช่น ภูเก็ต ที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่