เครือมติชน จัดเวทีเลือกตั้ง'66 บทใหม่ประเทศไทย ในหัวข้อ "ย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็ง" โดยมีตัวแทนจาก 8 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคชาติพัฒนากล้า, พรรคภูมิใจไทย, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติไทยพัฒนา และ พรรคไทยสร้างไทย ร่วมประชันนโยบายและแสดงวิสัยทัศน์
สำหรับในรอบ 2 เป็นการ "ชูจุดขาย" ในหมวดเศรษฐกิจ พร้อมแจงแนวทางจัดการปัญหาเศรษฐกิจ
- น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคเสนอให้มีค่าแรงขั้นต่ำวันละ 450 บาท และให้มีการปรับขึ้นทุกปีอย่างเป็นระบบ โดยพิจารณาจากจีดีพีและอัตราเงินเฟ้อ ไม่ใช่รอการปรับขึ้นจากนโยบายหาเสียง ขณะเดียวกันต้องมีแนวทางพัฒนาทักษะและเพิ่มทักษะให้กับแรงงาน เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับขึ้นค่าแรงด้วย ในส่วนของเอสเอ็มอีจะลดการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และการยกเว้นภาษีเงินได้เพื่อเพิ่มความเข้มแข็ง
- นายสันติ กีระนันทน์ กรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การพิจารณาเรื่องค่าแรงขั้นต่ำเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งต้องเป็นอัตราที่แรงงานสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ ศักยภาพ และสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งภาครัฐต้องรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน สร้างแรงจูงใจในการพัฒนาแรงงาน และจัดระบบการศึกษาที่สนองตอบความต้องการของตลาด เรื่องค่าแรงขั้นต่ำนั้นแต่ละพรรคจะประกาศเท่าไหร่ก็ได้ แต่อยากเสนอกลไกที่จะทำให้มีการปรับค่าแรงที่เหมาะสม
- นายสุพันธ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ต้องสร้างกลไกให้เอสเอ็มอีที่มีอยู่เป็นจำนวนมากเกิดความเข้มแข็ง โดยการสร้างแต้มต่อ เพราะเอสเอ็มอีจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศได้มากขึ้น แทนที่จะไปเน้นบริษัทขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังช่วยกระจายรายได้ลงไปถึงเศรษฐกิจฐานราก เราต้องฝึกให้คนหารายได้ก่อนจึงจะช่วยให้ประเทศมีรายได้ และต้องแก้ไขปัญหากฎหมายที่เป็นอุปสรรคซึ่งมีอยู่กว่า 1,400 ฉบับ
- นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า พรรคตั้งเป้าหารายได้ใหม่ๆ เข้าประเทศ 5 ล้านล้านบาทด้วยธุรกิจเฉดสี โดยมาจากจุดแข็งในแต่ละด้าน เช่น การท่องเที่ยวสายมู การต่อยอดการเกษตรเป็นอุตสาหกรรมการเกษตร การเชื่อมโยงระบบคมนาคมไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่เดียวกันการลดรายจ่ายก็เป็นช่องทางเพิ่มรายได้อย่างหนึ่ง เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน โดยเป็นการแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบายที่ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนระยะยาว*เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (soft power)
- นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์เกี่ยวกับท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยสร้างงานและรายได้หลักเข้าประเทศ พร้อมเสนอตั้งกองทุน 3 แสนล้านบาทเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านท่องเที่ยว, ผลักดันให้รวมกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเนื่องจากมีภารกิจเดียวกัน, ส่งเสริมให้ท้องถิ่นสามารถสร้างรายได้ แต่ที่ผ่านมาปัญหาเรื่องแหล่งเงินทุน ซึ่งพรรคมีแนวคิดที่จะให้งบประมาณที่มีอยู่เดิม เช่น กองทุนหมู่บ้านฯ โดยไม่ส่งผลกระทบเรื่องงบประมาณ
- นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมือง พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พรรคจะผลักดันให้มีการนำทุนทางวัฒนธรรมของประเทศมาส่งเสริมให้เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 5 ด้าน คือ อาหาร ประเพณีวัฒนธรรม นิสัยใจคอ แฟชั่น และภาพยนตร์ ทั้งนี้ต้องมีการจัดทำนโยบายที่ชัดเจน งบประมาณเพียงพอ และกลไกในการขับเคลื่อนที่มีศักยภาพ
- นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคมีนโยบายกระจายอำนาจ ลดอำนาจภาครัฐ เพิ่มอำนาจภาคเอกชน โดยเน้นการดูแลสวัสดิการ 3 ด้าน คือ 1.การดูแลเรื่องสุขภาพ 2.การดูแลเรื่องการศึกษา โดยกองทุน กยศ.ควรเป็นการให้ยืมไม่ใช่ให้กู้ และ 3.การดูแลเรื่องกระบวนการยุติธรรม
- นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านนโยบายและเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคจะแก้ไขปัญหาที่ระบบเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งแล้วส่งผลดีต่อเนื่องไปยังระบบเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้อย่างแท้จริง การส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต พรรคจึงออกนโยบายคิดใหญ่ทำเป็นเพื่อแก้ปัญหาในทุกมิติ