นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรค กรรมการนโยบาย กรรมการเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย (พท.) แถลงนโยบายหาเสียงเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้สินว่า ถึงเวลาแล้วที่จะคืนความมั่นคงทางการคลังให้กับประเทศ คืนความมั่นคงทางการเงินให้กับประชาชน ซึ่งพรรคมีนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งของประเทศและของประชาชน ประกอบด้วย
1.หนี้ประเทศหรือหนี้สาธารณะ
ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาที่เกิดจากการบริหารของรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)-ประยุทธ์ มีการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 5.16 ล้านล้านบาท ยังไม่รวมหนี้ใต้พรมที่อยู่กับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งต้องใช้เวลาในการชำระหนี้ถึง 74 ปี ไม่รวมดอกเบี้ย
"การก่อหนี้นั้นไม่ผิด หากเศรษฐกิจโตเร็วกว่าหนี้ที่ก่อ แต่นั่นไม่ใช่กรณีของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ตลอด 4 ปี ขนาดเศรษฐกิจของไทยหักเงินเฟ้อนั้นติดลบ นี่คือการก่อหนี้แบบหายนะ" นายเผ่าภูมิ กล่าว
โดยพรรคมีแนวทางในการบริหารหนี้สาธารณะ เริ่มต้นจากการออกแบบนโยบาย ทุกนโยบายของพรรค ไม่ว่าจะใช้เงินมากหรือน้อย ทุกบาททุกสตางค์ได้รับการกลั่นกรอง ไตร่ตรองด้วยความรับผิดชอบทางการเงินการคลังว่าทุกนโยบายส่งผลบวกที่คุ้มค่าต่อเศรษฐกิจมากกว่าเม็ดเงินที่ใช้ เพื่อเศรษฐกิจที่โตเร็วกว่าหนี้ เพื่อหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ลดลงในระยะยาว
2.หนี้เกษตรกร
เกษตรกรราว 90% เป็นหนี้ เฉลี่ย 430,000 บาทต่อครัวเรือน แม้จะรู้ว่าการกู้มาลงทุนจะต้องขาดทุนหรือแทบไม่เหลือกำไร ซึ่งพรรคจะสร้างอนาคตให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี โดยจะมีมาตรการควบคู่กันไป คือการแก้หนี้ของเกษตรกร ให้เกษตรกรเดินไปข้างหน้าได้ หลุดพ้นจากพันธนาการ นั่นเป็นที่มาของนโยบายพักหนี้เกษตรกร ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 3 ปี ควบคู่กับการพลิกฟื้นและผ่าตัดภาคเกษตรกรรมไทย ทั้งเรื่องเพิ่มผลิตภาพ เพิ่มราคาผลผลิต มีช่องทางการตลาด และลดต้นทุนการผลิต
3.หนี้ SME
เป็นหนี้เสียในช่วงวิกฤตโควิด-19 ราว 2.3 ล้านบัญชี มูลค่าหนี้ 2 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามภาวะเศรษฐกิจ ต้องเร่งช่วยเหลือ จึงเป็นที่มาของมาตรการพักหนี้ SME ประสบภัยโควิด 1 ปี คู่ขนานไปกับการปรับโครงสร้างหนี้แบบเฉพาะเจาะจง ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน ต่อยอดด้วยชุดนโยบาย SME ของพรรค
4.หนี้นอกระบบ
มีอยู่กว่า 1.4 ล้านคน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้ต้องหันไปพึ่งพาเจ้าหนี้นอกระบบ พรรคจึงมีแนวทางที่จะดึงหนี้นอกระบบให้เข้าสู่ระบบ ด้วยการสร้างคู่แข่งสู้กับเจ้าหนี้นอกระบบ เอาชนะด้วยดอกเบี้ยที่ถูกกว่า ปลอดภัยกว่า เข้าถึงง่ายกว่า และรับประกันโดยภาครัฐ กลไกนี้คือพิโกไฟแนนซ์ โดยรัฐอุดหนุนให้พิโกไฟแนนซ์คิดดอกเบี้ยถูกกว่าและเป็นทางเลือกที่ดีกว่าของประชาชน และป้องกันไม่ให้หนี้ในระบบไหลสู่นอกระบบ โดยเพิ่มงบประมาณการค้ำประกันสินเชื่อให้รัฐรับความเสี่ยงบางส่วนของประชาชน เพื่อการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ หยุดการไหลสู่หนี้นอกระบบ ทั้งสองกลไกจะทำงานร่วมกัน เพื่อหยุดยั้งวงจรหนี้นอกระบบ