นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงวันยุบสภาว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาหารือ แต่คงจะไม่เกินในช่วงวันที่ 20-22 มี.ค.นี้ หรือแม้กระทั่งวันนี้ หากจะยุบสภาก็ทำได้ หากมีประกาศ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องการกำหนดแบ่งเขตเลือกตั้งแล้วเสร็จ ซึ่งการประกาศยุบสภา แม้จะเป็นวันหยุดก็สามารถทำได้
อย่างไรก็ดี ยืนยันว่า ยังมีการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 21 มี.ค.นี้ เพราะยังมีอีกหลายวาระ ซึ่งนายกรัฐมนตรีสามารถเซ็นงาน และยังทำงานได้อยู่
"ส่วนจะเป็นครม.รักษาการหรือไม่ เขาเรียกกันแบบนั้น แต่กฎหมายไม่ได้เรียก ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความไว้หลายปีแล้วว่าอย่าไปเรียก เพราะถ้าเรียก จะเกิดปัญหาขึ้น แต่ในภาษาพูดก็สามารถเรียกได้ ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เพราะมีการตีความเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ยุบสภาแล้วมีรัฐมนตรีบางคนไปวงเล็บว่ารักษาการ ซึ่งกฤษฎีกาตีกลับมาว่า ไม่ถูก" รองนายกรัฐมนตรี ระบุ
สำหรับขั้นตอนของการออก พ.ร.ฎ.ยุบสภา นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า จะมีการยกร่าง และนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธย จากนั้นก็จะมีการโปรดเกล้าฯ ลงมา ถึงจะประกาศ ส่วนจะมีผลวันใด ก็อยู่ที่พระราชกฤษฎีกาเขียนไว้ว่าอย่างไร อาจมีผลในวันประกาศก็ยุบสภาในวันนั้น หากเขียนว่ามีผลถัดจากวันประกาศก็จะยุบสภาในวันรุ่งขึ้น
"นายกรัฐมนตรี สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ เองได้โดยไม่ต้องผ่านครม. ซึ่งเป็นพระราชกฤษฎีกาเดียวที่ไม่ต้องผ่านครม. แต่ต้องส่งให้ผมช่วยตรวจสอบ...ตอนนี้นายกรัฐมนตรียังไม่ได้สั่งให้ทำ แต่ร่างได้เตรียมไว้แล้ว" นายวิษณุ ระบุ
ส่วนรัฐมนตรีที่เตรียมจะย้ายพรรค และไปเปิดตัวกับบพรรคฝ่ายค้าน จะต้องลาออกจากรัฐมนตรีหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่จำเป็น แต่ถ้าคิดว่าเป็นมารยาท และอึดอัด มองหน้ากันไม่สนิท ก็ลาออกได้
"จะออก หรือไม่ออกก็ได้ หากออกตอนนี้ หรือสักพักค่อยออกก็ได้ ก็เคยมีมาแล้วในอดีตที่ทำทั้ง 2 อย่าง แต่ถ้าลาออกตอนนี้ก็ถือว่ามีมารยาทดี บางทียังไม่ออก อยู่ไปสักพักค่อยลาออกก็ได้" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว