น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. พร้อมด้วยนายสุรชาติ เทียนทอง ส.ส.กทม. ร่วมแถลงข่าวคัดค้านแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กทม. เพราะถือเป็นการแบ่งเขตการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม ที่ผู้อำนาจจงใจเปลี่ยนแปลงเส้นเขตเลือกตั้งเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง แต่ผู้ที่รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด คือประชาชน และมีประชาชนร้องเรียนมาว่าได้รับผลกระทบจากการแบ่งเขต
น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวต่อว่า หาก กกต.ยืนยันที่จะใช้การแบ่งเขตแบบที่ 1 ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และในท้ายที่สุดอาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ฉะนั้น กกต. ต้องกำหนดเขตเลือกตั้ง และจำนวน ส.ส. แต่ละเขตเลือกตั้งกันใหม่ แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ รวมไปถึงจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศชาติ ความมีเสถียรภาพของประเทศชาติ ความขัดแย้งทางการเมือง และงบประมาณแผ่นดิน
หากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไป จนกว่าการเลือกตั้งจะเสร็จ ซึ่งนานเท่าใดก็ไม่มีใครรู้ หมายความว่าผู้มีอำนาจนำประเทศชาติ และประชาชนเป็นตัวประกันให้กับความเสียหายนี้ใช่หรือไม่ และหากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ กกต.จะรับผิดชอบไหวหรือไม่
"พรรคเพื่อไทย พร้อมสู้ทุกกติกาที่มีความยุติธรรม หรือที่ถูกกำหนดขึ้น พรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าต่อ เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งให้ได้ ให้พี่น้องประชาชนได้ออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียง ให้นำประชาธิปไตยกลับมา และทำให้ประชาชนเห็นว่ายิ่งพรรคการเมืองที่พวกเขาสนับสนุน ได้ใช้พลังประชาชน ไม่โอนอ่อนผ่อนตาม ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรมเหล่านั้น" น.ส.ธีรรัตน์ กล่าว
ด้านนายสุรชาติ กล่าวว่า การแบ่งเขตแบบที่ 1-2 จะยึดหลักตามตัวเลขประชากรที่ให้สมดุลกัน ส่วนแบบที่ 3-4 จะยึดหลักเขตปกครอง
ยกตัวอย่าง กรณีเขตเลือกตั้งที่ 9 ของเขตบางเขน 1 แขวงของเขตบางเขน จะไปรวมกันกับ 2 แขวงของเขตจตุจักร และจะมารวมกับอีก 1 แขวงของเขตหลักสี่ ซึ่งถือว่าเป็นการเอาเศษเสี้ยวของ 3 เขตการปกครองมารวมเป็นหนึ่งเขตการเลือกตั้ง
หรือฝั่งธนบุรี ยกตัวอย่าง เขตที่ 32 ของ 1 แขวงบางกอกน้อย มารวมกันกับเขตบางกอกใหญ่ และมารวมกับบางแขวงภาษีเจริญ บางแขวงของเขตตลิ่งชัน บางแขวงของเขตธนบุรี ถือเป็นการแบ่งเขตที่พิลึกพิลั่น ถ้าเราไปดูตามมาตรา 27 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ถือว่าเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายชัดเจน
นายสุรชาติ กล่าวต่อว่า แม้วันนี้จะมีพรรคการเมืองไปยื่นร้องต่อศาลปกครองแล้ว แต่ กกต.ยืนยันในการแบ่งเขตแบบนี้ ถ้าหากศาลปกครองจะตัดสินมาภายหลัง ต้องมีผู้รับผิดชอบ หลักการการยึดอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง เมื่อมีการใช้เศษเสี้ยวของแต่ละแขวง จะเห็นได้ว่ามีรูปร่างการแบ่งเขตที่บิดเบี้ยว ทั้งที่การแบ่งเขตเลือกตั้ง ควรจะอำนวยความสะดวกให้ประชาชน และประชาชนไม่ได้มีความใกล้ชิดกัน พรรคเพื่อไทยได้เสนอไปแล้ว ว่าควรจะยึดเขตการเลือกตั้งตามแบบให้ใกล้เคียงกับปี 2554 และปี 2557 มากที่สุด