9 พรรคการเมือง ร่วมโชว์วิสัยทัศน์ต่อนโยบายสวัสดิการ ในงานเสวนา นโยบายสวัสดิการ "ของใคร แบบไหน โดนใจชาวบ้าน" 4 องค์กรประชาชน ถาม 9 พรรคตอบ
*พรรคเพื่อไทย
นายสุทิน คลังแสง จากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีนโยบายสวัสดิการเพิ่มเติมให้แก่ประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะหากเทียบเม็ดเงินในการทำสวัสดิการให้ประชาชนกับมูลค่าจีดีพีของประเทศแล้ว ของประเทศไทยที่ 2-3% ต่อจีดีพี ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่อยุ่ในระดับ 5-6% ต่อจีดีพี
อย่างไรก็ดี การทำนโยบายสวัสดิการจะต้องคำนึงถึงฐานะการเงินของประเทศด้วย เพราะหากจะเพิ่มนโยบายสวัสดิการภายใต้งบประมาณรายจ่ายเท่าเดิมในปัจจุบัน อาจจะไม่เพียงพอ เนื่องจากในแต่ละปียังมีงบผูกพันอีกค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหาเงินรายได้เข้าประเทศควบคู่กันไปด้วย เพื่อทำให้ GDP ประเทศเติบโตอีกอย่างน้อยปีละ 5% ซึ่งจะทำให้งบประมาณรายจ่ายต่อปีที่ 3 ล้านล้านบาท สามารถเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 4-5 ล้านล้านบาท และมีเพียงพอที่จะนำมาใช้ทำนโยบายสวัสดิการแบบใหม่ที่เจาะกลุ่ม และลงลึกได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น
โดย step แรกคือสร้างรายได้ ควบคู่กับการจัดสวัสดิการ คือ ของเดิมที่มีจะไม่ตัด แต่ที่จะเพิ่มใหม่คือ การเพิ่มผูกติดกับการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ สร้างรายได้ให้ประเทศ ก้อนแรกคือ ให้ครอบครัวมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท ถ้าต่ำกว่านั้นเราเติมให้ เชื่อว่าก้อนนี้จะเติมให้แก่เด็ก ผู้หญิง และคนชรา ก้อนที่สอง คือการเติมเข้ากระเป๋าดิจิทัล
"ก้อนแรกให้ทุกครอบครัวมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่น แต่เราไม่ได้แยกว่าเป็นเด็กเท่านั้น คนแก่เท่านี้ หรือคนพิการเท่านั้น เพื่อให้เงินกลับมาเป็นรายได้ของรัฐ เมื่อรัฐรวยขึ้น ก้อนงบประมาณใหญ่ขึ้น เฟส 2 จะให้แบบเจาะกลุ่ม แบบถ้วนหน้า แบบ for all ก็ได้ แต่ตอนนี้มีความจำเป็นต้องให้แบบผูกติดกับงบประมาณที่ต้องโตขึ้นก่อน เราไม่ได้รอรายได้ แต่ต้องคิดเรื่องให้ และเรื่องหาเงินควบคู่กันไปด้วย" นายสุทินกล่าว
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล จากพรรคก้าวไกล เราเป็นพรรคที่เชื่อในระบบสวัสดิการ ที่ไม่ใช่การแจกเงิน แต่เป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคง และคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนโดยถ้วนหน้า โดยพรรคมีสวัสดิการที่จะให้ประชาชนตั้งแต่เริ่มลืมตาดูโลก จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ตั้งแต่สวัสดิการเด็กแรกเกิด สิทธิลาคลอดบุตรให้ทั้งพ่อและแม่ เพิ่มเงินเลี้ยงดูเด็กจากแบบคัดกรองรายได้เป็นแบบถ้วนหน้า, คูปองให้เด็กได้เรียนรู้นอกห้องเรียน, ให้ทุกคนได้เข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมถ้วนหน้า และเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 3 พันบาท/เดือน รวมทั้งมีระบบดูแลผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียง และสุดท้ายจะมีค่าทำศพ 10,000 บาทที่รวมอยู่ในระบบสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ต้องการให้ระบบสวัสดิการผูกติดกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดข้อจำกัดในการใช้งบประมาณ ดังนั้นมองว่าควรจะปรับลดงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็น และเพิ่มการจัดเก็บภาษีในแหล่งใหม่ เช่น ภาษีความมั่งคั่ง ภาษีที่ดินแบบรวมแปลง ซึ่งจะมาช่วยสร้างรายได้ ไม่ให้เป็นภาระงบประมาณในการทำนโยบายสวัสดิการ
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม จากพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า ระบบสวัสดิการของไทยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นระบบประกันสังคม ระบบประกันสุขภาพ มีความล้าสมัย เพราะเป็นแนวคิดที่สร้างขึ้นในช่วงสังคมอุตสาหกรรม ซึ่งมองว่ายังมีช่องให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเข้าสู่สังคมดิจิทัลแล้ว ดังนั้นจึงต้องมีการแก้ไขด้วยการปรับโครงสร้างระบบสวัสดิการสังคมให้เป็นระบบที่ยั่งยืน พร้อมมองว่า ในระยะยาวอย่างน้อย 10 ปี จะต้องปฏิรูประบบการคลัง เพื่อให้ประหยัดรายจ่าย และมีรายได้มาเติมเต็มกองทุนประกันสังคม 2 ล้านล้านบาทที่ลดลง "หลักๆ คือต้องโยกงานที่เกี่ยวกับชราภาพ ไปอยู่กับประกันสังคมทั้งหมด แล้วยกงานด้านสุขภาพ ไปอยู่กับ สปสช. เงินสมทบที่ลูกจ้างจ่ายเข้าประกันสังคม จะให้เก็บไว้ใช้ในยามชรา ไม่ใช่เอามาเก็บไว้ในระบบกลาง " นายพิสิษฐ์ กล่าว โดยหลังจากการปฏิรูปถ้วนหน้าแล้ว ประชาชนจะได้ทั้งสิทธิบัตรทอง รวมกับสิทธิประกันสังคม กล่าวคือ การรักษาพยาบาลฟรีตลอดชีพ และมีบำนาญในยามเกษียณ รวมทั้งมีเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งผู้สูงอายุจะได้รับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมสุงสุด 5,000 บาท นอกเหนือจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีการออมโดยสมัครใจที่เป็นหลักในการดำรงชีพยามเกษียณ "ถ้าปฏิรูปสำเร็จ คนไทยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เฉพาะวัยทำงานเท่านั้น แต่วัยเกษียณ ก็จะมีเงินไม่น้อยไปกว่าที่ประกันสังคมจ่ายให้ผู้เกษียณอายุตอนนี้ คือ 5,000 บาท ตอนนี้ มาตรา 40 มีคนมาสมัครมากกว่า 10 ล้านคน แสดงว่าคนตื่นตัวมากที่อยากจะให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแล" นายพิสิฐ กล่าว
นายพรชัย มาระเนตร์ พรรคชาติพัฒนากล้า ชูนโยบายโอกาสนิยม เพื่อคนไทย โดยต้องได้สวัสดิการที่ดีที่สุด คือ งานที่ได้เงินดี มีเงินซื้อของไม่แพง ลดความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น และลดครอบครัวแหว่งกลาง พร้อมมองว่าประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสังคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันในสังคมผู้สูงอายุ โดยนโยบายจะเน้นไปที่กลุ่มผู้สูงอายุ มองว่าเป็นวัยที่มีคุณค่ายังสามารถทำงานได้ จึงจะจัดหาตำแหน่งงานให้อีก 5 แสนตำแหน่ง และได้รับค่าตอบแทนจากรัฐบาลเดือนละ 5,000 บาท รวมทั้งเงินสนับสนุนปรับปรุงบ้านอีก 5 หมื่นบาท ให้เหมาะสมแก่ผู้พักอาศัยที่เป็นผู้สูงอายุ เพื่อลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุถึงปีละ 6 ล้านกรณี ตลอดจนสวัสดิการให้แก่เด็ก ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี ปีละ 2,000 บาท และเงินสนับสนุนศูนย์ดูแลเด็กเล็ก
น.ส. ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย พรรคมีนโยบายที่จะอาสาดูแลคนไทยตั้งแต่เกิดจนแก่ ไมว่าจะเป็น 1.สวัสดิการแม่และเด็ก 2.นโยบายเรียนฟรีจนถึงปริญญาตรี 3.กองทุนคนตัวเล็ก เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน ลดการเป็นหนี้นอกระบบ และ 4.บำนาญประชาชนอีกเดือนละ 3,000 บาท
*พรรคพลังประชารัฐ
นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ จากพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พรรคเล็งเห็นความสำคัญของสวัสดิการ และต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน สร้างความเท่าเทียม ทั่วถึง ให้ทุกคนเข้าถึงสวัสดิการของรัฐพร้อมหน้า และลดช่องว่างทางสังคมโดยเฉพาะในเรื่องรายได้ โดยพรรคต้องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ในเรื่องบัตรประชารัฐ 700 บาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน และการเพิ่มเบี้ยประกันชีวิตให้ผู้ถือบัตรประชารัฐ วงเงิน 2 แสนบาท นอกจากนี้ยังมีนโยบายดูแลประชาชนทุกช่วงวัย รวมถึงให้ความสำคัญของสังคมสูงวัย 12 ล้านคน ด้วยเบี้ยผู้สูงวัย 60 ปีขึ้นไปรับ 3,000 บาท อายุ 70 ปีขึ้นไป รับ 4,000 บาท และอายุ 80 ปีขึ้นไป รับ 5,000 บาท
สำหรับผู้ที่ที่มีรายได้น้อย หรือต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี มีอยู่ 20 ล้านคน ยืนยันว่าจะได้รับสิทธิในบัตรประชารัฐอย่างแน่นอน โดยปัจจุบันมีผู้ได้รับสิทธิและมีบัตรประชารัฐแล้ว 14 ล้านคน ยังเหลืออีก 6 ล้านคน ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลัง เปิดให้คนที่ลงทะเบียนไว้ก่อนหน้านี้และยังไม่ได้รับการพิจารณายื่นอุทธรณ์เข้ามาได้ ซึ่งหากเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่ถึง 1 แสนบาทต่อปี ยืนยันว่าจะได้รับสิทธิบัตรประชารัฐอย่างแน่นอน
นายบุญยอด สุขถิ่นไทย จากพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า 69 สิทธิยังอยู่และจะทำต่อ สิ่งที่จะทำใหม่ คือ บัตรสวัสดิการพลัส เพิ่มสิทธิเป็น 1,000 บาท/เดือน และได้สิทธิกู้ฉุกเฉิน 1 หมื่นบาท , ปลดหนี้ด้วยงาน, กองทุนฉุกเฉินประชาชน 3 หมื่นล้านบาท และคืน 30% ของเงินสะสมชราภาพให้แก่ผู้ประกันตน มาตรา 33 โดยไม่ต้องรอให้ถึงอายุ 60 ปี รวมทั้งการรื้อกฎหมายที่รังแกประชาชน และเป็นอุปสรรคในการทำมาหากิน
*พรรคภูมิใจไทย
นางอนุสรี ทับสุวรรณ จากพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า จากหลายวิกฤติทีทำให้หลายคนเกือบ 2 ใน 3 ของประเทศต้องมีหนี้ นโยบายแรกของพรรคคือ พักหนี้ก่อน 3 ปี ด้วยการหยุดเงินต้น และพักดอกเบี้ย ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนได้สามารถทำมาหากินในระหว่างที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว โดยไม่ต้องกังวลกับการนำเงินไปชำระหนี้ นอกจากนี้ พรรคยังมีนโยบายรักษามะเร็งฟรี ฟอกไตฟรี
"จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจ รัฐบาลได้เงินภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินที่ใช้ จะเอามาจากการขายพันธบัตรให้คนที่มีเงินออม ไม่ได้ผลกระทบจากโควิด ให้ดอกเบี้ย 2.5-3% รวมทั้งลดรายจ่าย ราคาน้ำมัน เข้าโครงการหลังคาโซลาเซล หลังคาทุกหลังคามีค่า ได้ลดค่าไฟ 450 บาท/เดือน" นางอนุสรี กล่าว
*พรรคชาติไทยพัฒนา
นายอุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา พรรคชาติไทยพัฒนา ต้องการเปลี่ยนประเทศไทย ผ่านนโยบาย Wow thailand ซึ่งประกอบด้วย Wealth การสร้างความมั่งคั่ง Opportunity การสร้างโอกาส Welfare สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อทุกคน สวัสดิการของพรรคจะเริ่มจากครอบครัวที่อบอุ่น ให้ค่าคลอดบุตร 5 พันบาท และมีค่าเลี้ยงดูบุตรปีละ 1 หมื่นบาท อีก 10 ปี มีนโยบายด้านสุขภาพที่ชัดเจน คือ ถ้าไม่ป่วยเลย จะมีเงินคืน 3 พันบาท หรือสุขภาพดี มีเงินคืน 3 พันบาท
นางสุนีย์ ไชยรส ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน พบว่า ช่องโหว่ของสวัสดิการที่พบมากที่สุด จะอยู่ในกลุ่มของเด็กเล็ก อายุ 0-6 ปี พร้อมย้ำว่าองค์กรเด็กทั่วประเทศไม่ได้ต้องการแบมือขอเงิน เพียงแต่เห็นว่าเป็นสิทธิของเด็ก เป็นสวัสดิการของเด็กที่ควรจะได้รับการดูแลอย่างถ้วนหน้า ไม่ควรจะต้องมาตรวจสอบความยากจนถึงจะได้รับสิทธิ
"ถามว่าทำไมต้องตรวจสอบ ผู้สูงอายุ ยังไม่ต้องตรวจสอบ บัตรทองไม่ตรวจสอบ แต่มาตรวจสอบอยู่กลุ่มเดียว ว่าต้องเป็นเด็กยากจน เราต้องการสิทธิและสวัสดิการของเด็กเล็กถ้วนหน้า เราไม่ต้องการแบมือขอ เราไม่ต้องการให้มาบอกว่าไม่มีเงิน เรารอมา 9 ปีแล้ว บอกแต่ว่าไม่มีเงิน โจทย์นี้ท้าทายมาก ถ้าพรรคการเมือง ยังยืนยันว่าต้องรอให้มีเงิน ถือเป็นการเดินทางผิด เพราะเด็กโตขึ้นเรื่อยๆ และจำเป็น" นางสุนีย์ ระบุ