นายชัยเกษม กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ สรุปสภาพสังคม และความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม กำหนดแนวทางและกระบวนการปฏิรูปสังคม ปัญหากฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพ อาชญากรรมทางไซเบอร์ รวมถึงการทุจริต วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบและการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เป็นต้น
"การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรามองภาพกว้างของสังคมว่า เมื่อเกิดปัญหาบิดเบือนสิ่งที่ควรจะเป็น นับตั้งแต่การปฏิวัติ เรายินดีจะรับข้อเสนอแนะทุกอย่าง เรามีคณะทำงานชุดย่อย ที่มีความยินดีแก้ไขทุกจุด ทุกอย่างที่ไม่เป็นที่พอใจของประชาชนทุกอย่าง" นายชัยเกษม กล่าว
ขณะที่นายชูศักดิ์ กล่าวว่า แม้จะมีการเลือกตั้งในเร็วๆ นี้ แต่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าที่ควรจะเป็น เพราะผลจากการยึดอำนาจการปกครองประเทศ มีรัฐบาลที่ต่อเนื่องจากการยึดอำนาจ เลือกนายกรัฐมนตรีจากคนที่ไม่ได้มาเป็น ส.ส. หรือไม่เป็นสมาชิกพรรค การมี ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี แสดงถึงการไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นการนำประเทศนี้ไปสู่ธนาธิปไตย หรือการใช้เงินเป็นปัจจัยสำคัญในทางการเมือง
ส่วนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคติดปัญหาสำคัญคือ สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ทำประชามติให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แล้ว แต่วุฒิสภาไม่เอาด้วย ดังนั้นหากพรรคได้จัดตั้งรัฐบาลอาจพิจารณาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ทำประชามติได้
"สังคมไทยยังมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง การถอนหมายจับหรือไม่ถอน เป็นปัญหากระบวนการยุติธรรม การทำให้ประเทศนี้หมดไปจากปัญหาสองมาตรฐานเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่ขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สังคมมีปัญหา สิ่งที่น่าห่วง ประเทศกำลังจะมีอาชญากรรมแปลกๆ เช่น การสังหารหมู่ การกราดยิง ส่วนหนึ่งมาจากระบบราชการที่เสื่อมถอย และยังเต็มไปด้วยยาเสพติด อบายมุข ธุรกิจสีเทา จึงเป็นที่มาที่จะรวบรวมปัญหาเหล่านี้มาวิเคราะห์และเสนอวิธีแก้ไขต่อไปหากได้รัฐบาล" นายชูศักดิ์ กล่าว
นายภูมิธรรม กล่าวว่า การรัฐประหารในปี 2549 ถือเป็นต้นตอแห่งการทำลายล้างโครงสร้างของระบอบประชาธิปไตยมาจนถึงทุกวันนี้ รวมไปถึงการเข้ามาบริหารแบบแฝงรูป หรือระบอบประยุทธ์ ได้ทำลายความงดงามของระบอบประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชน การมีคณะทำงานต่างๆ ของพรรคเพื่อไทย เพื่อจะบูรณาการงานด้านต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกด้าน ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีความพยายามนำหลักความเสมอภาค เป็นเครื่องมือหลัก และจะขยายความไปในด้านอื่น ทั้งเศรษฐกิจและสังคม หลักความเสมอภาคในประชาธิปไตย ภายใต้หลักคิด 5 ด้าน ได้แก่
1.ความเสมอภาคทางการเมือง ทุกคนควรมีสิทธิทางการเมืองเท่ากัน ไม่ควรให้รัฐใช้อำนาจเกินขอบเขต โดยไม่มีหลักประกันให้กับประชาชน นักเรียน นักศึกษา ต้องไม่ถูกริดรอน กลั่นแกล้ง โดยใช้อำนาจมากเกินไป
2.ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ต้องมีหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน ในฐานะสมาชิกในสังคม นับตั้งแต่ปี 2554 ที่ผ่านมา มีการเป็นการปิดกั้นอำนาจทางเศรษฐกิจของประชาชน มีการเอื้อประโยชน์ให้คนส่วนน้อย ซึ่งเป็นคนของพวกเขา คนส่วนมากของสังคมมีชีวิตที่ยากลำบาก
3.ความเสมอภาคทางสังคม ทุกคนต้องมีฐานะทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม แม้มีความแตกต่างกัน แต่ทุกคนต้องใช้ชีวิตทางสังคมอย่างเต็มที่ ปัญหาที่มีความเห็นที่แตกต่างต้องเข้าสู่สภา ไม่ใช่การใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐบาล
4.ความเสมอภาคทางกฏหมาย ที่ผ่านมาภาครัฐใช้อำนาจที่ล้นเกิน หลายคนถูกจับ ขัง ทั้งที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย ในขณะที่อีกหลายคนได้รับการโอบอุ้ม
5.ความเสมอภาคทางโอกาส ต้องให้โอกาสทุกคนใช้อำนาจที่สุจริต มาพัฒนาความสามารถ พัฒนารายได้ในการมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างทัดเทียมกัน
"นี่คือการเตรียมความพร้อมของพรรคเพื่อไทยที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาสังคม เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ หลายเรื่องที่เราเรียกร้องให้ประชาชนเลือกเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ได้ ส.ส.ในสภา 310 เสียงขึ้นไป ให้เราชนะเด็ดขาด ได้เสียงข้างมากโดยไม่มีข้อสงสัย เป็นพรรคการเมืองพรรคเดียว หรืออย่างน้อยที่สุดร่วมมือกับฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อผลักดันนโยบายต่างๆ หากเราได้เสียงไม่ถึง 310 จะสู้ ส.ว.250 คนไม่ได้ และมีโอกาสที่พล.ป.ระยุทธ์จะกลับมาเหมือนเดิม" นายภูมิธรรม กล่าว