(เพิ่มเติม) รมว.คลังเงา เผยยังไม่เห็นรบ.ออกมาตรการรองรับวิกฤติศก.โลกที่อาจกระทบไทย

ข่าวการเมือง Monday April 21, 2008 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายกรณ์ จาติกวณิช รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ในฐานะ รมว.คลังเงา กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ"มองเศรษฐกิจไทย ภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจโลก" ว่า ยังมองไม่เห็นว่ารัฐบาลจะออกมาตรการอะไรมารองรับ เืพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤติในระดับโลกไม่ให้มีผลกระทบมายังประเทศไทย
สิ่งที่เป็นวิกฤติระดับโลก 3 สิ่งที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่้างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบด้วย วิกฤติเศรษฐกิจจากปัญหาซับไพร์มที่ยังไม่คลี่คลาย, วิกฤติราคาน้ำมันแพง และวิกฤติราคาอาหารโลก
"ครม.เงาอึดอัดที่ไม่เห็นแนวคิดที่ชัดเจนของรัฐบาลว่าจะรองรับ 3 วิกฤติต่างๆ และจะฉวยโอกาสจากวิกฤติราคาอาหารโลกได้อย่างไร" นายกรณ์ กล่าว
นายกรณ์ เชื่อว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ GDP จะโตได้ 6% โดยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งเพราะดูจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ที่เชื่อว่ากำไรจะดีขึ้น ประกอบกับตัวเลขการส่งออกในไตรมาส 1 ตัวเลขภาคการท่องเที่ยวยังไปได้ดี ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้เป็นเหตุผลในเชิงบวกที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 6%
แต่อย่างไรก็ดีต้องไม่ลืมดูถึงทิศทางการเมืองด้วยว่าจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นมากน้่อยเพียงไร แต่เชื่อว่านักธุรกิจต่างๆ สามารถปรับตัวได้ ไม่ว่าสภาวะทางการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่งไร โดยส่วนใหญ่นักธุรกิจต่างมองว่าไม่ว่ารัฐบาลชุดใดจะเข้ามา แต่แกนหลักที่สำคัญ คือทุกรัฐบาลจะต้องมีมาตรการหรือนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจซึ่งโดยภาพรวมแล้วแทบจะไม่มีความแตกต่างกันนัก
ด้านนายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจของไทยที่ได้รับผบกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากปัญหาซับไพร์มและปัญหาราคาน้ำมันเป็นสิ่งที่ยังน่าติดตามในระยะ 2-3 ปีจากนี้ แต่สิ่งที่ต้องจับตาดูในระยะสั้นคือปัญหาทางการเมืองของไทยที่ขณะนี้ถือว่าอยู่ในภาวะอึมครึม
"ระยะ 2-3 ปี เศรษฐกิจโลกยังน่าห่วง แต่ถ้ามองระยะสั้นนี้ การเมืองก็ยังอึมครึมเพราะยังอยู่ในช่วงตกลงไม่ได้ แต่จะลากยาวหรือไม่นั้นก็อยู่ที่ว่าข้อตกลงจะออกมาเป็นที่พอใจมากน้อยเพียงใด" นายสมชัย ระบุ
ทั้งนี้ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสจะเติบโตได้ 6% ไม่ว่าจะมองจากตัวเลขภาคการผลิต, การจ้างงาน, การส่งออก, การบริโภค และการลงทุน โดยมีเพียงอัตราเงินเฟ้อเท่านั้นที่ยังอยู่ในระดับสูงและสร้างความไม่มั่นใจให้กับประชาชนในเรื่องค่าครองชีพและการจับจ่ายใช้สอย แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องอยู่ในห้องไอซียู
"ผมไม่ชอบการเปรียบเปรยกับห้องไอซียู คิดว่าเศรษฐกิจไทยไม่ถึงกับต้องเข้าห้องไอซียู แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเพียงแค่ร่างกายที่ไม่แข็งแรง และไม่ได้ถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาล แต่รอการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้กลับมาแข็งแรงได้ใหม่เท่านั้น" นายสมชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ