นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี และ อดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมในไทยเข้าขั้นวิกฤตหลายมิติหลายลักษณะด้วยกัน แต่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการขณะนี้ คือ วิกฤตมลพิษทางอากาศ หมอกควัน และ PM2.5 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชน การดำเนินชีวิต และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพื้นที่ที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว เช่น หลายจังหวัดในภาคเหนือที่เกิดมลพิษทางอากาศและหมอกควันสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก
หากรัฐบาลปล่อยให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี โดยปีหนึ่งๆ รุนแรงเกินกว่า 2 เดือนจะสร้างความเสียหายได้มากถึง 5,500-10,000 ล้านบาทต่อปี ยังไม่รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพ การย้ายถิ่น ที่จะทำให้รายจ่ายด้านสาธารณสุขและต้นทุนทางสังคมเพิ่มขึ้นในระยะยาว การสูญเสียทางเศรษฐกิจเกิดจากการลดลงของรายได้จากการชะลอตัวลงของการท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างๆ การชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลางแจ้งและโครงการก่อสร้างต่างๆ ค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ค่าเสียโอกาสจากประเด็นทางด้านสุขภาพ โดยผู้มีรายได้น้อยและคนจนในพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนงานก่อสร้าง พ่อค้าแม่ค้าริมถนน หรือผู้ที่ทำงานกลางแจ้งในพื้นที่มลพิษเข้มข้นสูง ตำรวจจราจร พนักงานเก็บขยะ พนักงานทำความสะอาดถนน พนักงานขับรถสาธารณะและกระเป๋ารถเมล์ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เนื่องจากไม่มีเครื่องป้องกันผลกระทบจากมลพิษทางอากาศและมีสุขภาพย่ำแย่ลง โดยมีการวิจัยชี้ว่าตำรวจจราจรและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ปฏิบัติงานริมถนนในกรุงเทพฯ มีอายุขัยเฉลี่ยลดลง นอกจากนี้การเผชิญปัญหาจราจรติดขัดเกิน 4 ชั่วโมงต่อวันมีความเสี่ยงต่อสุขภาพเพิ่มขึ้นและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวพันกันมากขึ้นเรื่อยๆ งานวิจัยของธนาคารโลกชี้ว่า ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนที่ไม่มีการแก้ไขสูงถึง 20% ของจีดีพีโลก และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ความเสียหายลดลงได้หากทุกประเทศร่วมมือกันในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดกิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสร้างมลพิษทางอากาศ รายงานประเมินผลกระทบมลพิษทางอากาศขององค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า ทุกๆ ปีมีประชากรจากทั่วโลกเสียชีวิตจากมลพิษรุนแรงทางอากาศมากกว่า 7 ล้านคน ขณะที่เมืองในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีค่ามลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นกว่า 70% โดยเฉพาะเมืองที่มีปัญหาความยากจนจะได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศมากที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่เมืองในยุโรปมีสถานการณ์เรื่องมลพิษทางอากาศดีขึ้นอย่างชัดเจนก่อนเกิดสงครามยูเครนรัสเซียจากการส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและการใช้พลังงานสะอาด ผลกระทบจากสงครามทำให้หลายประเทศกลับไปใช้พลังงานจากถ่านหิน
ขอเสนอให้รัฐบาลใหม่ออกมาตรการเชิงรุกอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาให้เด็ดขาด ดังนี้
มาตรการที่หนึ่ง ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศต้องเน้นการกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ลดการรวมศูนย์ทุกอย่างไว้ที่กรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งพื้นที่อีอีซี
มาตรการที่สอง ควบคุมการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรมและการใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดมลพิษโดยมีกำหนดค่ามาตรฐานให้ชัดเจนสำหรับแหล่งปล่อยมลพิษแต่ละประเภท การกำหนดค่ามาตรฐานในการปล่อยมลพิษหรือการควบคุมการปล่อยมลพิษ วิธีนี้อาจมีจุดอ่อนในแง่ที่ไม่ได้คำนึงถึงความสามารถในการลดมลพิษที่แตกต่างกันและไม่ได้ปรับเปลี่ยนต้นทุนหน่วยสุดท้ายในการก่อมลพิษ
มาตรการที่สาม ควรศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีผู้ก่อมลพิษทางอากาศ แต่ภาษีสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดมลภาวะและปกป้องสิ่งแวดล้อม การที่รัฐมีรายได้จากภาษีสิ่งแวดล้อมมากนั้น หมายความว่ารัฐนั้นย่อมมีการทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปด้วย ดังนั้นรายได้จึงมิใช่เป้าหมายของการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม โดยหลักการที่สำคัญของการจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม คือ ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principle) ควรเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ไปในการควบคุมบำบัดและป้องกันมลพิษ ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าและบริการสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง หรือการซื้อขายใบอนุญาตสิทธิในการปล่อยมลพิษหรือซื้อขายสิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติก็ได้ หรืออาจใช้ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษทางอากาศ ภาษีและค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ และระบบรับซื้อคืน การวางประกันความเสี่ยงหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยควรมีการใช้มาตรการทางการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น
มาตรการที่สี่ สร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น สร้างสวนสาธารณะเพิ่มขึ้น ปลูกต้นไม้ประเภทที่ช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศได้ อนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ให้สมบูรณ์รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ บำรุงรักษาป่าต้นน้ำ
มาตรการที่ห้า ต้องยกระดับมาตรฐานรถยนต์ให้มีการปล่อยมลพิษลดลง
มาตรการที่หก ยกระดับมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5
มาตรการที่เจ็ด สนับสนุนให้มีการใช้รถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาด โดยปรับเปลี่ยนให้รถสาธารณะให้เป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานสะอาด เสนอระบบพลังงานไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมพร้อมใช้นโยบายอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมเน้นการเติบโตแบบยั่งยืน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ลดการใช้พลังงานจากถ่านหินหรือพลังงานจากฟอสซิลลง
มาตรการที่แปด การปรับลดค่าโดยสารขนส่งระบบรางให้ถูกลงและทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการใช้บริการได้
มาตรการที่เก้า ปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลใช้ มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมืองทำให้พื้นที่สีเขียวลดลง ควรทบทวนการใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมือง นอกจากนี้ การใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขผังเมืองในพื้นที่ EEC ยังทำให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลและปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย อาจทำให้ปัญหามลพิษทางอากาศแบบมาบตาพุดปะทุขึ้นมาได้อีกในอนาคต
มาตรการที่สิบ จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศ ส่วนมาตรการลดมลพิษทางอากาศที่อาจไปเพิ่มภาระหรือต้นทุนการดำรงชีวิตของประชาชนนั้นอาจต้องมีกองทุนหรือเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือหรือสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การห้ามไม่ให้รถที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์วิ่งบนท้องถนน การกำหนดอายุการใช้งานรถยนต์ การห้ามรถยนต์บางประเภทวิ่งเข้าสู่กรุงเทพฯชั้นในในบางช่วงเวลา เป็นต้น
"การมีอากาศสะอาดหายใจ น้ำและอาหารปลอดสารพิษสำหรับบริโภค อยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นสิทธิพื้นฐานที่สุดที่ประชาชนชาวไทยต้องได้รับการดูแล เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและสังคมต้องร่วมกันทำให้เกิดขึ้นก่อนที่ผลกระทบจะลุกลามสร้างผลเสียหายในระยะยาวจนยากที่จะเยียวยาได้ การป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนเป็นเรื่องที่ใช้ต้นทุนน้อยกว่าการเยียวยาแก้ไขมาก ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติและความทรุดโทรมของสุขภาพของผู้คนในหลายกรณีไม่สามารถแก้ไขฟื้นฟูให้คืนสภาพปกติได้เหมือนเดิม" นายอนุสรณ์ กล่าว