จากกรณีกระแสร้อนในสื่อสังคมออนไลน์ หลังจากมีประชาชนจำนวนมากลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไม่ได้เมื่อวานนี้ (9 เม.ย.) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายเนื่องจากระบบล่ม และมีการเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาขยายเวลาลงทะเบียน เพราะทำให้เสียสิทธิ
นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ทางสำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งสาเหตุที่ระบบล่มเพราะประชาชนเข้าไปลงทะเบียนจำนวนมากในช่วง 21.00 น. กกต. ต้องขอโทษประชาชนที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งศักยภาพของระบบสามารถรองรับการลงทะเบียนได้ 4,000 คนต่อวินาที และสำนักบริหารการทะเบียนได้พยายามที่จะแก้ไข
โดยเมื่อเช้านี้ ได้ประสานว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้คนที่เข้าไปลงทะเบียนเมื่อวานนี้ แต่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ เพราะระบบมีปัญหาเสียก่อน เป็นผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า โดยมีการติดต่อผู้ที่ขอใช้สิทธิเพื่อให้ยืนยันว่าจะใช้สิทธิที่ใด
ส่วนความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการขยายระยะเวลาการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านั้น นายแสวง กล่าวว่า ยังไม่ขอตอบ โดยขอให้สำนักบริหารการทะเบียนพิจารณาแก้ไขปัญหาก่อนว่าจะสามารถอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้มากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ พบว่าตัวเลขของผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในขณะนี้ อยู่ที่ 2.4 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับปี 62 ซึ่งอยู่ที่ 2.6 ล้านคน ซึ่งบ่งชี้ว่าคนกลุ่มนี้ไม่สะดวกที่จะไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้ง
ส่วนการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรนั้น นายแสวง กล่าวว่า กกต. ได้ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย กรมการกงสุล ยอมรับว่าต้องเห็นใจกระทรวงการต่างประเทศและผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เพราะการบริหารจัดการค่อนข้างลำบาก ประชาชนกว่าจะได้ใช้สิทธิต้องเสียเวลาค่อนข้างมาก
"เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เห็นใจทั้งกระทรวงต่างประเทศ และผู้เลือกตั้ง เพราะการบริหารจัดการลำบาก ประชาชนอยู่ไกล ซึ่งก็มีวิธีเลือกตั้ง 3 แบบ คือแบบคูหา รถเคลื่อนที่ และไปรษณีย์" นายแสวง กล่าว
ส่วนการนำบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วกลับมานับคะแนนในประเทศไทยนั้น เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ได้มีการซักซ้อมกับกระทรวงการต่างประเทศซึ่งสถานทูตไทยในบางประเทศรับผิดชอบดูแลหลายประเทศ แต่จากที่เคยมีบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งก่อน ก็คิดว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์นับบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไม่ทันอีก ซึ่งขณะนี้ กระทรวงการต่างประเทศ กำลังหาวิธีเพื่อให้นำบัตรกลับมานับพร้อมกันในวันเลือกตั้งให้ได้ทุกบัตร
นายแสวง ยังกล่าวถึงกรณีให้พรรคเพื่อไทยเข้ามาชี้แจงที่มาของเงิน และวงเงินที่ต้องใช้ในนโยบายหาเสียง ที่จะแจกเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัลให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาทว่า ตามกฎหมายกำหนดไว้ว่านโยบายที่จะต้องมีการใช้จ่ายเงิน จะต้องมี 3 เงื่อนไข คือ 1.วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ 2. ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย 3.ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย
ทั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนพิจารณาตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคนั้นหรือไม่ ซึ่งขณะนี้มี 6 พรรค ที่แจ้งมายัง กกต.แล้ว ว่ามีนโยบายเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงิน ซึ่งทุกพรรคจะต้องชี้แจง 3 เงื่อนไขดังกล่าวให้ครบถ้วน เพราะไม่ว่าจะประชานิยมแบบไหน ก็ต้องมีข้อมูล ไม่ใช่สัญญาว่าจะให้ แต่ไม่มีข้อมูล คนอาจตีความเป็นหลอกลวง หรืออาจผิดตามกฎหมายได้
"นโยบายแบบนี้ จะถือว่าไม่ใช่การสัญญาว่าจะให้ แต่ถ้าไม่มีข้อมูล 3 เงื่อนไขดังกล่าว อาจจะผิดเข้าข่ายหลอกลวงตามกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา73(5) ก็ได้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ได้บอกว่าถ้ารายงานไม่ครบแล้วจะมีความผิด เพียงแต่กำหนดว่าให้ กกต. แจ้งให้ดำเนินการให้ครบถ้วน และมีโทษเป็นการปรับ จนกว่าจะดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วน" นายแสวง ระบุ
เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า การเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.นี้ กกต. คาดว่าจะทราบผลอย่างไม่เป็นทางการได้ประมาณ 22.00 น. และตั้งเป้าจะมีประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งราว 80%
"จะนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง ผลไม่เป็นทางการจะรายงานหลังจากนับคะแนนเสร็จ แต่จะไม่เรียลไทม์เพราะต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก คาดทราบผลไม่ทางการเกือบ 100% ตอน 4 ทุ่ม" นายแสวง กล่าว