นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อขอให้ตรวจสอบและวินิจฉัยกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดทนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย มีนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 54 ล้านคนๆ ละ 10,000 บาท จูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับพรรคเพื่อไทย โดยไม่บอกความจริงให้หมดนั้น เป็นการดำเนินการที่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายหลายฉบับหรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ การหาเสียงแจกเงินดิจิทัลดังกล่าว เป็นการใช้ประชานิยมสุดขั้ว และอาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประโยชน์ของประชาชนวงกว้าง ทั้งทางบวก และทางลบ และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะมีผลกระทบต่อวินัยทางการเงินการคลังของรัฐ และอาจขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
นอกจากนี้ การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2561 ประกอบ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 โดยเคร่งครัด โดยจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ซึ่งเงินจะเหลือถึงประชาชนจริงเพียง 8,500 บาทเท่านั้น และเมื่อสิ้นปีภาษี ประชาชนต้องแจ้งเป็นรายรับต่อสรรพากร รวมทั้งร้านค้าที่รับเงินดิจิทัลด้วย ดังนั้นการบอกความจริงไม่หมด จึงเข้าข่ายเป็นการหลอกลวงจูงใจให้เข้าใจผิด ตามมาตรา 73(5) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561
"ที่สำคัญ กรณีนี้สุ่มเสี่ยงต่อเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะนายเศรษฐา เคยเป็นผู้ก่อตั้งหรือผู้บริหารธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน แล้ววันนี้จะระบุว่าโอนหุ้นทั้งหมดให้ลูกสาว และลาออกจากผู้บริหารใน บมจ. แสนสิริ แต่สังคมจะวางใจได้อย่างไรว่าการประกาศแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะไม่เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับอดีตธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของนายเศรษฐา และยังอาจเข้าข่ายฝ่าฝืน มาตรา 44 แห่งพ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2561 ด้วยหรือไม่"นายศรีสุวรรณ ตั้งข้อสังเกต
พร้อมระบุว่า การหาเสียงแจกเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยดังกล่าว กกต. ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนทราบถึงคำอธิบายของพรรคเพื่อไทยที่รายงานมายัง กกต.ด้วยว่า 1.วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการมาจากแหล่งใด 2.ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย 3.ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย เพราะหากไม่สามารถชี้แจงได้ก็อาจเข้าข่ายฝ่าฝืน มาตรา 73(1) และ (5) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
ด้านนายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เข้ายื่นคำร้องต่อกกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีพรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบายฟลัดเวย์ เพื่อระบายน้ำลงทะเลทั้งสองฝั่งเจ้าพระยา ป้องกันน้ำไม่ให้ท่วมกรุงเทพฯ โดยจะถมทะเลบางขุนเทียนจนถึงสมุทรปราการ สมุทรสาคร และนโยบายแจกเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัลให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท เนื่องจากมองว่า 2 นโยบายขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ก ด้านการเมือง (3) และ ประกอบ (2) การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง โดยเปิดเผยและตรวจสอบได้
หากเป็นการเสนอนโยบายโดยที่ไม่มีการศึกษาหรือดำเนินการใดมาก่อนจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 258(3) ดังนั้น กกต.ต้องชี้ว่านโยบายทำได้หรือไม่ ถูกต้องตามกระบวนการกฎหมายหรือไม่ ไม่ใช่เพียงบอกว่ามาชี้แจงแล้ว ไม่เช่นนั้น เรื่องนี้ต้องไปถึง ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ เพราะขณะนี้หลายพรรคการเมืองเสนอนโยบายเป็นประชานิยม ไม่อยากเห็นประเทศไทยเป็นเวเนซูเอลา ที่ประชานิยม ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยมีรายได้มาจากการเกษตร ขายข้าวและรายได้จากการท่องเที่ยวเท่านั้น
"ขอเตือนไปยังพรรคเพื่อไทยว่าโปรดระมัดระวังว่าเมื่อใดที่นโยบายเป็นสิ่งที่ไม่เป็นจริง ไม่สามารถทำได้เท่ากับหลอกลวงเพื่อให้ได้คะแนนนิยม จะนำไปสู่ความผิดตามกฎหมาย มาตรา 92 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มีสิทธิที่จะถูกยุบพรรคได้" นายสนธิญา กล่าว