PoliticalView: ชี้ชะตาเลือกตั้ง 66: นายกฯที่คนรุ่นใหม่อยากได้!

ข่าวการเมือง Wednesday April 12, 2023 09:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในการเลือกตั้งใหญ่วันที่ 14 พ.ค.ที่จะถึงนี้ ประเทศไทยมีประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 52 ล้านคน ซึ่งเสียงที่ถูกจับตา คือ เสียงของกลุ่มคนรุ่นใหม่ เนื่องจากจะเห็นได้ว่าในช่วงไม่กี่ปีมีความตื่นตัวและก้าวเข้ามามีส่วนร่วมเรื่องการเมืองมากขึ้น โดยในจำนวนนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก หรือ First Voter (อายุ 18-22 ปี) ถึง 3.28 ล้านคน เสียงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนนี้อาจสร้างจุดเปลี่ยนทางการเมืองได้ "อินโฟเควสท์" พาไปสำรวจความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ว่าจะมีมุมมองและความคาดหวังอย่างไรต่อ "นายกรัฐมนตรีคนที่ 30"

*คนรุ่นใหม่อยากได้นายกฯแบบไหน?

จากการสำรวจความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ พบว่า คุณสมบัติที่อยากให้นายกรัฐมนตรีมีมากที่สุด คือ ต้องเป็นผู้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทั้งความคิดเห็นที่แตกต่าง และความเห็นของคนรุ่นใหม่อย่างพวกเขาด้วย เพราะพวกเขาเชื่อว่ามุมมองของคนรุ่นใหม่เต็มไปด่วยความคิดสร้างสรรค์ และมีประสิทธิภาพมากกว่าที่ผู้ใหญ่คิด

คนรุ่นใหม่ยังอยากได้นายกฯ ที่มีความสามารถรอบด้าน มีคุณสมบัติความเป็นผู้นำ ฉลาด ซื่อสัตย์ ขณะเดียวกัน ยังต้องเป็นคนที่พูดจริง ทำจริง พร้อมลงพื้นที่เพื่อให้เห็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และมีความตั้งใจที่จะพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า

ขณะที่ มีคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่ง ต้องการนายกฯที่เป็นคนรุ่นใหม่ พร้อมจะเปลี่ยนแปลงประเทศ และก้าวทันต่อโลกด้วย

*นายกฯ ควรมีทักษะความชำนาญในด้านใดเป็นพิเศษ?

ทักษะการสื่อสาร และภาษาต่างประเทศ คือทักษะที่คนรุ่นใหม่มองว่านายกควรมีมากที่สุด รองลงมาคือ ทักษะด้านการบริหาร จัดการบ้านเมือง นอกจากนี้ นายกยังควรมีพื้นฐานความรู้ที่ดี ทั้งเรื่องทั่วไป เศรษฐศาสตร์ และการเมือง ขณะเดียวกัน ควรมีหลักการ ไหวพริบ และทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วย

*คุณสมบัตินายกรัฐมนตรีในมุมมองชาวเน็ต

DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภค (Social Listening) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้รวบรวมการกล่าวถึงแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีในสื่อโซเซียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊ก อินสตราแกรม ยูทูป และ ทวิตเตอร์ ในวันที่ 4-7 เม.ย.66 หลังจากพรรคการเมืองยื่นรายชื่อแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีกันชัดเจนแล้ว พบว่ามีชาวเน็ตได้แห่เข้ามาโพสต์ ทวีต กันอย่างหนาแน่น โดยค่าปฏิสัมพันธ์ (Engagement) สูงถึงกว่า 1,092,668 ครั้ง โดยเป็นชาย 47% และหญิง 53% แบ่งเป็นช่องทางเฟซบุ๊ก 885,059 ยูทูป 144,367 อินสตราแกรม 54,761 ทวิตเตอร์ 6,790

เสียงของประชาชนที่สะท้อนผ่านสื่อโซเชียลแสดงความคิดเห็นถึงรายชื่อแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะคุณสมบัติที่โดนใจ ได้แก่

  • นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง เพื่อความชอบธรรมและสง่างาม เพราะการเลือกตั้งเป็นช่องทางเดียวที่ทำให้มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน โดยจะต้องดำเนินไปตามกฏกติกาชัดเจน ไม่ใช่มาจาก ส.ว. 250 เสียง ต้องฟังเสียงประชาชนว่าต้องการใคร
  • มีลักษณะผู้นำและมีบุคลิกภาพที่ดี
  • ต้องเข้าใจความเป็นประชาธิปไตย เป็นคนที่รู้จักรับฟัง โดยเฉพาะฟังเสียงคนรุ่นใหม่ และคนในประเทศ
  • ไม่ทุจริต โปร่งใส ปรับแก้กฎหมายปราบปรามคอร์รัปชั่นให้แรงขึ้นและไม่ให้มีช่องโหว่ จัดการอย่างเด็ดขาดจริงจัง ต้องเข้มข้นกับการบังคับใช้กฎหมาย เด็ดขาดกับคนขี้โกง เพราะถ้าไม่มีการโกง ไม่มีการคอร์รัปชั่น เงินของประเทศก็จะเหลือมาพัฒนาประเทศได้มาก
  • แก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างชัดเจนตรงจุดได้ผลระยะยาว อย่างเช่น ปัญหาภาคใต้ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง หรือ แก้ไขปัญหาการศึกษาที่ต้นตอของปัญหา คือการสอนของครู
  • พูดจาดี วิสัยทัศน์-ทัศนคติดี
  • บริหารงานเก่ง นึกถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ทำนโยบายที่ช่วยเหลือประชาชนได้จริง
  • เก่งทั้งการปกครองและนำพาเศรษฐกิจ
  • อยากได้นายกรัฐมนตรีที่เป็นคนรุ่นใหม่ อายุไม่เกิน 50 ปี
  • มุมมองในระดับโลก สื่อสารภาษาต่างประเทศได้ดี เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ มีความรอบรู้ เป็นผู้มองการณ์ไกล มีความประนีประนอม ขณะเดียวกันก็ต้องมีความเด็ดขาดในการตัดสินใจ

ขณะที่บางความเห็นมองว่า ไม่แคร์ว่าคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีจะโกง-ไม่โกง เพราะทุกประเทศในโลกนี้ไม่มีประเทศไหนที่ข้าราชการไม่โกง จะมากหรือน้อยก็แค่นั้น แต่ขอให้เป็นคนเก่ง

  • ให้ความสำคัญกับนโยบายมากกว่าตัวบุคคล
  • นายกรัฐมนตรีที่ดีควรจัดตั้งคณะรัฐมนตรีโดยเลือกรัฐมนตรีตามความสามารถเหมาะกับกระทรวงนั้น ๆ ไม่ใช่จัดสรรตามโควต้า

ขณะที่บรรดาพรรคการเมืองมีการเสนอชื่อบุคคลที่จะเสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี ออกแล้ว จำนวน 63 รายชื่อ จาก 43 พรรคการเมือง จากนี้ไปเสียงของประชาชนจะเป็นตัวตัดสินว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 คุณสมบัติจะเป็นไปอย่างที่ประชาชนตั้งความหวังไว้หรือไม่ คงได้เห็นหน้าเห็นตากันในเร็ววันนี้

https://youtu.be/CmrUFaz2pu0


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ