นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า จุดยืนด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคนั้นมีความตั้งใจที่จะพิทักษ์รักษาโลกให้พ้นจากวิกฤตสิ่งแวดล้อม 9 ประการ หรือ Planetary Limits ตามแนวทางของ UNEP เพื่อคงความสามารถในการรักษาสิ่งที่มีชีวิต (Life System Support) โดยประเทศไทยกำลังเผชิญมหันตภัย 3 ด้าน ได้แก่ โลกร้อน มลพิษ และความหลากหลายทางชีวภาพ จึงต้องพยายามรักษาดุลยภาพระหว่างมนุษย์ ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม เพื่อความสมบูรณ์พูลสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืน จุดยืนดังกล่าวนำไปสู่การออกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 5 ประการ ได้แก่
1.แก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประมวลกฎหมายระดับ 4 (Tier 4) โดยเพิ่มความเข้มงวด ครอบคลุมจุดกำเนิด หรือ Non Point Sources เช่น PM2.5 มลพิษที่เกิดจากการเผาป่า ขยะที่มีสารพิษเจือปน ควบคุมไปถึงแหล่งกำเนิดมลพิษ ที่ไหลลงทะเล โดยจะเป็นกฎหมายที่มีหลักวิชาการรองรับ และทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม
2.ผู้ก่อให้เกิดมลภาวะจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายหรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น บริษัทที่มีคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดบนยอดเขา ถ้าพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ
3.ผู้พิทักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจะได้ประโยชน์จากภาระหน้าที่ ความเจริญของข้างล่างต้องสมกับความพยายามของคนบนเขา ทำให้เขายินดีที่จะรักษาต้นน้ำ เพราะมีคนที่เห็นถึงคุณค่าการทำหน้าที่ของเขา
4.สนับสนุนหลักคิด BCG (Biological Circular Economy: Green)
5.ปฎิรูปโครงสร้างและความรับผิดชอบทางราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการให้กรมควบคุมมลพิษสามารถทำหน้าที่ Regulator ได้อย่างสมบูรณ์เหนือกรมอื่นในการควบคุม
จากนโยบายสามารถแปลงเป็นแผนปฏิบัติการได้ดังนี้
1.แก้ปัญหาโลกร้อน ในปีนี้ประเทศไทยอาจเผชิญปัญหาภัยแล้งที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 100 ปี และอยู่กับหน้าร้อนยาวนานถึง 8 เดือน จึงเสนอวิธีการแก้ไขด้วยการออกโฉนด 50 ล้านไร่ปลูกไม้ยืนต้น เพื่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) พร้อมปรับเปลี่ยนระบบการผลิตของภาคอุตสาหกรรม เป้าหมายเพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Zero GHG emissions) รวมไปถึงการปรับกระบวนการผลิตภาคเกษตรให้สอดคล้องกับฤดูกาลที่จะเปลี่ยนไป
2.แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสีย ได้แก่
- น้ำท่วม ก่อสร้างสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ท้ายน้ำในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ชี และมูล เพิ่มพื้นที่ชุ่มน้ำ และคลองระบายน้ำ (Flood ways)
- น้ำแล้ง เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 40 ล้านไร่
- น้ำเสีย สนับสนุนให้มีโรงบำบัดน้ำเสียในทุกระดับ โดยเฉพาะในระดับชุมชน ซึ่งจะจัดแบบ Cluster และพิจารณากำหนดให้มีค่าน้ำเสีย
3.แก้ปัญหาขยะล้นเมือง ได้แก่ ขยะบ้านและขยะอาหาร จะได้รับการสนับสนุนการคัดแยก การขนส่งจัดเก็บและการทำลาย ขยะอุตสาหกรรม รัฐจะสนับสนุนระบบ Circular System เพื่อลดปริมาณขยะและเป็นการสร้าง Value chains และริเริ่มสนับสนุน Urban mining หรือการทำเหมืองในเมือง
4.รักษาอากาศให้สะอาดและลด PM 2.5 โดยการหยุดยั้งการเผาป่าในที่สูง สนับสนุนการไถกลบซากและตอซังพืชไร่ชนิดต่างๆในพื้นที่เกษตรกรรม พร้อมเจรจาประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดการเผาไร่ข้าวโพด และนำระบบ GAP และระบบการติดตามแหล่งกำเนิดมาใช้กับผู้นำเข้าข้าวโพดอย่างเคร่งครัด
5.ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และน้ำทะเลท่วมพื้นที่ต่ำด้วยการฟื้นฟูทะเลไทย ควบคุมการประมง ลดน้ำเสีย ลดการทิ้งขยะ (Blue Evolution) ปลูกป่าชายเลนและควบคุมการก่อสร้างริมฝั่งทะเลอย่างเคร่งครัด พร้อมสร้างแนวเกาะสร้อยไข่มุก เพื่อปิดอ่าวไทยตอนใน กรณีน้ำทะเลขึ้นสูงและท่วมภาคกลางของประเทศ ผลพลอยได้จะได้พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่มีราคาและมูลค่าสูงมากอีกประมาณ 5,400 ตารางกิโลเมตร