พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พร้อมด้วยนายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรคฯ พล.อ.ธัญญา เกีรยติสาร กรรมการบริหารพรรค ในฐานะหัวหน้าทีมเลือกตั้งภาคอีสาน ร่วมแถลงข่าวเปิดนโยบาย"อีสานประชารัฐ" พัฒนาภาคอีสานด้วยรถไฟทางคู่ บึงกาฬ-อู่ตะเภา โดยพล.อ.ประวิตร กล่าวว่าจะพัฒนาเศรษฐกิจภาคอีสาน และภาคตะวันออก ด้วยโครงการรถไฟทางคู่ จาก จ.บึงกาฬ - ท่าเรือแหลมฉบับ - ท่าเรือมาบตาพุด - สนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง
โดยเป็นการพัฒนาพื้นที่ 24 จังหวัดภาคอีสาน และภาคตะวันออก สอดรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยทางรถไฟจะผ่าน 13 จังหวัด ได้แก่ บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และเชื่อมต่อ 11 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร ศรีสะเกษ มหาสารคาม และหนองบัวลำภู ระยะทาง 480 กม. โดยจะเริ่มก่อสร้างเมื่อได้เป็นรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ได้สำรวจเส้นทางไว้เรียบร้อยแล้ว
"เราทำเพื่อคนอีสานโดยเฉพาะ จะได้มีงาน สร้างงาน สร้างอาชีพให้คนอีสาน น้ำเขาก็น้อย การเกษตรก็มีข้อขัดข้องเยอะ คนอีสานออกมาทำงานต่างจังหวัดทั้งนั้น เราทำโครงการนี้เพื่อชาวอีสานโดยเฉพาะ ให้ภาคอีสานเจริญ...เราทำอีสานก่อน จากนั้นจะทำภาคเหนือ และภาคใต้ต่อไป คิดกันมาหลายปีแล้ว ส่วนเรื่องงบประมาณที่จะใช้นั้น ยังไม่ได้คิด แต่ไม่ต้องห่วง สามารถดำเนินการได้แน่นอน" พล.อ.ประวิตร กล่าว
ด้านนายสันติ กล่าวว่า พรรคฯ จะพัฒนาภาคอีสาน เปิดภาคอีสานให้ทันต่อโลก เนื่องจากดูแต่ละพรรคการเมืองแล้ว มีแต่ที่จะขอให้ชาวภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด และภาคตะวันออก 5 จังหวัด ช่วยทำให้แลนด์สไลด์ แต่ไม่เคยเห็นพรรคการเมืองใดเลยที่คิดว่าจะพัฒนาภาคอีสานให้พ้นความยากจน หรือนำเงินลงทุนมหาศาลไปพัฒนา มีแต่พรรคพลังประชารัฐ ที่ให้ความสำคัญกับชาวอีสาน
ตลอดระยะเวลาเกิน 20 ปีภาคอีสานไม่ได้รับการพัฒนาใดๆ เลย พรรคพลังประชารัฐ จึงมุ่งมั่นตั้งใจที่จะก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ จาก จ.บึงกาฬ ที่อยู่บนสุดของอีสานวิ่งตรงลงมาผ่านภาคอีสานทางตะวันออกทั้งภาค มาถึงท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด และสนามบินอู่ตะเภา เพื่อเปิดโลกให้ชาวอีสาน ขณะที่รถไฟทางคู่แบบใหม่ จะมีรางขนาด 1.435 ม. มาตรฐานเดียวกับรถไฟความเร็วสูง จะมีการสร้างทางหลวงพิเศษ 8 ช่องจราจร ตลอดแนวเส้นทางรถไฟ จะมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรม ขนาด 20,000 ไร่ 6 แห่ง กว่า 6,000 โรงงาน โดยเป็นนิคมอุตสาหกรรมนำสมัย
พร้อมกันนี้ จะมีการสร้างวิทยาลัยอาชีวะใกล้นิคมอุตสาหกรรม นิคมฯ ละ 2 แห่ง รวม 12 แห่ง เพื่อเตรียมแรงงานที่มีทักษะและคุณภาพรองรับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และยังมีโครงการพัฒนาท่าเรือบก ซึ่งจะเป็นพื้นที่รองรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากนิคมอุตสาหกรรมที่จัดตั้งขึ้นก่อนที่จะมีการขนส่งไปยังท่าเรือน้ำลึกที่ภาคตะวันออกขณะที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศเป็นผู้ดำเนินการ โดยการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งเป้าหมายไว้ คาดว่าจะสามารถดึงดูดเงินลงทุนเข้าประเทศไทย 4.5 ล้านล้านบาท
โดยรัฐจะเป็นผู้เวนคืนที่ดินที่ต้องใช้ในการพัฒนานิคมแต่ละนิคมประมาณ 2 หมื่นไร่ เพื่อรองรับโรงงานประมาณ 1 พันโรงงาน โดยแต่ละโรงงานจะใช้เงินลงทุนประมาณ 750 ล้านบาท ทั้งนี้ มีหลายประเทศสนใจที่จะมาตั้งนิคมอุตสาหกรรม อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศในยุโรป
"นโยบายของเรา อย่าไปใช้คำว่าแข่งกับแลนด์สไลด์ แต่นโยบายของเรา มีความตั้งใจพัฒนาอีสานให้กับลูกหลานชาวอีสานมีศักยภาพ มีความสามารถ ก้าวข้ามความยากจน ฉะนั้นเรามั่นใจว่าชาวอีสานจะต้องเลือกพลังประชารัฐทั้ง 133 เขตเพื่อให้พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนำนำจัดตั้งรัฐบาล...ยืนยันโครงการเหล่านี้ทำจริง ทำทันที แต่เราต้องมีนายกฯ เพื่อผลักดันโครงการดีๆ เหล่านี้ที่จะพัฒนาอีสาน" เลขาธิการ พปชร. กล่าว