เลือกตั้ง'66: "บิ๊กป้อม" ขอใช้เวลาที่เหลือเดินหน้าภารกิจก้าวข้ามขัดแย้งแม้ยาก หลังการมืองรุนแรงมากขึ้น

ข่าวการเมือง Friday April 21, 2023 12:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เลือกตั้ง'66:

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ประเทศไทยไม่มีทางออกอื่น นอกจากต้องร่วมกันก้าวข้ามความขัดแย้ง แม้วันนี้จะมีคนโจมตีว่าตนเป็น "เผด็จการจำแลง" และขอให้รู้ว่าที่ตนมาพูดเรื่องนี้ และขอให้ทุกคน ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ไม่ใช่เรื่องที่มาพูดเอาเท่ หรือสร้างจุดขายที่แตกต่างของการเป็นผู้นำการเมืองอย่างที่หลายๆคนพยายามคิด และพูดกันไป ไม่ได้ตั้งใจสร้างภาพให้เกิดความต่างเพื่อเป็น "ตัวเลือกใหม่"หรืออะไรอย่างนั้น แต่รู้สึกและเกิดเป็นความคิดจริงๆว่า การเมืองเดินหน้าต่อไปไม่ได้หากไม่ก้าวข้ามความขัดแย้ง

พล.ประวิตร ระบุว่า การหาเสียงเลือกตั้งที่มุ่งแต่ชัยชนะ ก่อให้เกิดการโจมตีกันรุนแรงมากขึ้น จนมองเห็นแนวโน้มของความแตกแยก จะเห็นว่าระดับผู้นำของพรรคการเมืองกลับมาเล่นงานคนที่มีความคิดแตกต่างกับตัวด้วยท่าทีก้าวร้าว ขนาดขับไล่ไสส่งให้ "ไปเสียให้พ้นจากแผ่นดินไทย" ขณะที่อีกฝ่ายก็เอาแต่ประกาศกร้าวตัดขาดที่จะร่วมมือกับฝ่ายกีดกันไว้เป็นฝ่ายตรงกันข้าม

"วันนี้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าเป็นกังวลอย่างยิ่ง การหาเสียงเลือกตั้งที่มุ่งแต่ชัยชนะ ก่อให้เกิดการโจมตีกันรุนแรง จนมองเห็นแนวโน้มของความแตกแยก ถึงขั้นขับไสไล่ส่งไม่ให้อยู่ร่วมชาติ เกิดขี้นอีกแล้ว ทั้งที่ทุกเรื่องมีวิธีการแก้ไข หากทุกฝ่ายร่วมมือกันคิดทำโดย ก้าวข้ามความขัดแย้ง" พล.อ.ประวิตร ระบุ

ตนเห็นจุดอ่อน และจุดแข็งของทั้ง 2 ฝ่ายที่ไม่มีทางจะทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามพ่ายแพ้อย่างราบคาบ โดยฝ่ายตัวได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด เพราะเห็นเช่นนี้จึงตัดสินใจใช้เวลาของชีวิตที่เหลืออยู่ หาทางทำให้ประเทศมีทางออกจาก "วงจรอันสิ้นหวังของการร่วมกันอย่างสุขสงบ"นี้ให้ได้เสียที

โดยคำตอบในเรื่องนี้ เห็นได้ไม่ยากหากย้อนไปทบทวนช่วงรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียวมาเป็น สองใบ"และแก้ตัวหารคะแนนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จาก 500 มาเป็น 100 ช่วงนั้นเกิดความขัดแย้งรุนแรง พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคเห็นไปทางเดียวกับสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่เอาด้วยกับแนวทางนั้น ต้องการให้เลือกด้วยบัตรใบเดียว ปาร์ตี้ลิสต์หาร 500 เหมือนเดิม เพราะมองไม่เห็นว่าแก้ไขแล้วพรรครัฐบาลจะมีโอกาสชนะพรรคฝ่ายค้านที่เป็นพรรคใหญ่ มีสมาชิกและเครือข่ายฐานเสียงมากกว่าได้อย่างไร ขณะที่ พรรคการเมืองบางพรรคโจมตี สว.อย่างรุนแรง ทำนองว่า เป็นส่วนเกินที่ให้ผลในทางเลวร้ายต่อประชาธิปไตย ไม่ควรจะออกมาใช้สิทธิแสดงความคิด ออกเสียง

ตอนนั้นตนเป็นผู้นำพรรคพลังประชารัฐที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล มีแรงกดดันมากมายทั้งในพรรคและนอกพรรค อย่างที่รู้ๆกันว่าแม้แต่ผู้นำในทำเนียบรัฐบาลก็ส่งสัญญาณผ่านคนใกล้ชิดว่า ต้องกลับเป็นบัตรใบเดียว และปาร์ตี้ลิสต์หาร 500 เพื่อความได้เปรียบของพรรคร่วมรัฐบาล ตัดโอกาสที่จะชนะของพรรคฝ่ายค้านที่เป็นพรรคใหญ่

ตอนนั้น แม้แต่ในพรรคพลังประชารัฐเองยังมีแค่ไม่กี่คนที่เข้าใจในแนวทางแบบที่ผมเชื่อว่า "ต้องยืนหยัดในหลักประชาธิปไตย แต่ด้วยความเข้าใจในอนุรักษ์นิยม" และแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังถูกมองว่าไม่เอาด้วยกับการแก้ไขบัตรเลือกตั้ง โดยช่วงนั้นนักการเมืองที่เป็นสายตรงนายกฯออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านชัดเจน

พล.อ.ประวิตร รับว่าเป็นภารกิจที่ยากทีเดียวในการพูดคุยหาทางก้าวข้ามความขัดแย้ง เดินหน้าในหลักการประชาธิปไตย โดยฟากอนุรักษ์นิยม ให้ความร่วมมือ ทั้งที่ถูกโจมตีหนักจากฝ่ายเสรีนิยม แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ประสบความสำเร็จตามความตั้งใจและลงมือด้วยประสบการณ์ และความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่ายที่สร้างสมมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ