ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ จันทรทัต อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.กรุงศรีอยุธยา นำทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงวาระประเทศไทย ครั้งที่ 3 "ปชป.ชูนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไทย โดยไม่เพิ่มหนี้สาธารณะ" ว่า พรรคชูนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไทยโดยไม่เพิ่มหนี้สาธารณะ และจะไม่มีการแจกเงินสุดโต่ง ไม่ใช้วิธีการรีดภาษีผู้มีรายได้น้อย ไม่มีการหักลดงบประมาณ ซึ่งจากนโยบายสร้างคน สร้างเงิน สร้างชาติ เราใช้วงเงิน 1 ล้านล้านบาท เป็นการใช้งบประมาณที่สามารถจัดสรรได้จากจุดต่างๆ โดยมีเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ 5% และเน้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เติบโตช้า อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ลดราคาพลังงานที่สูงขึ้น ปัญหาหนี้สินครัวเรือน และผลกระทบจากโควิดที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การกระตุ้นด้วยเงิน 1 ล้านล้านบาท เราเน้นควบคู่กับการปรับโครงสร้างภาษี ตลาดเงิน ตลาดทุน เพื่อจะได้กระจายรายได้เข้าสู่ฐานราก เพื่อช่วยลดความเลื่อมล้ำทางสังคมได้ ซึ่งที่ผ่านมาหลายพรรคการเมืองมุ่งเน้นการใส่เงินเข้าไปในระบบอย่างเดียว แต่ควรสร้างกลไกเพื่อจัดหาแหล่งเงินทุน สิ่งที่ต้องดำเนินการทันที คือ เชื่อมความเลื่อมล้ำทางสังคม สิ่งที่เราอยากทำ คือ อยากให้ผู้มีรายได้สูง หรือมีรายได้ปานกลาง มีจำนวนมากขึ้น เมื่อมีจำนวนมากขึ้นก็จะเป็นเม็ดเงินในการนำมาใช้ดูแลกลุ่มฐานรากข้างล่าง
ม.ร.ว. ศศิพฤนท์ กล่าวว่า แนวทางที่จะดำเนินการคือ การทำให้บริษัทหลักทรัพย์พันกว่าแห่งหาวิธีให้จ่ายภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่านี้ ส่วนกลุ่มปานกลางมีเป็นแสนบริษัทที่มีความประสงค์เข้าแหล่งเงินทุน อยากเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ยังเข้าไม่ได้เนื่องจากมาตรการของ กลต.ยังไม่เอื้ออำนวยกลุ่มเหล่านี้เข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ง่าย สิ่งที่เราอยากทำ ต้องการทำให้หน่วยราชการตรงนี้มีมาตรการที่เอื้อต่อการระดมทุนของบริษัทขนาดกลางหรือขนาดเล็กง่ายขึ้น เข้าง่ายขึ้น เราต้องการทำให้ 6 เดือนหรือไม่เกิน 1 ปีทำให้บริษัทเหล่านี้เข้าไปไฟลิ่ง ระดมทุนทำ IPO ได้เลย
ม.ร.ว.ศศิพฤนท์ กล่าวว่า เมื่อเม็ดเงินใหญ่ขึ้น รัฐบาลจะได้จัดสรรเงินภาษีนั้นบริหารจัดการ ทำให้ในกลุ่มฐานรากจากเดิมรับสวัสดิการภาครัฐ เรามีมาตรการทำให้คนในกลุ่มฐานรากลืมตาอ้าปาก ยกระดับฐานรากสู่ชุมชมเข้มแข็ง โดยเฉพาะกลุ่มเกษตร ได้ภูมิความรู้เชิงวิชาการ สามารถเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต สามารถทำกำไรจากการเพาะปลูกมากขึ้น และช่วยต่อยอดผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นได้
สำหรับกลุ่มแรงงานต้องช่วยฐานผู้ประกอบการ SMEs ที่ขาดเงินทุนหมุนเวียน ถ้าสามารถจัดทำแพคกิ้งเครดิตให้ก็สามารถทำให้ SMEs ฟื้นขึ้นมาได้ ส่วนแรงงานมาจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จำเป็นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ เพื่อกระจายความเจริญ ให้คลอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค ทำให้แรงงานไม่ต้องย้ายถิ่นเกินจำเป็น
ส่วนกลุ่มหาบเร่/แผงลอย รัฐบาลจะดูแลด้วยการจัดพื้นที่ค้าขาย ซึ่งเชื่อว่า ผู้ใช้บริการจะใช้บริการในพื้นที่ต่างๆ ได้มากขึ้น รถเข็นอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ถูกสุขลักษณะ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงเงินกู้ธนาคารได้รายละ 50,000 บาท
และกลุ่มรับจ้างอิสระ ถ้ารัฐบาลเข้าไปสนับสนุนมาตรฐานคุณภาพในการทำงาน และสามารถรวบรวมกลุ่มเหล่านี้เป็นดาต้าเบต เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบได้ว่า ในแต่ละพื้นที่มีกลุ่มอาชีพอิสระกลุ่มใดบ้างที่พร้อมทำงานได้ ซึ่งกลุ่มนี้จำเป็นต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือก็สามารถจัดหาเงินทุนให้กับกลุ่มเหล่านี้จากธนาคารรัฐเช่นกัน
สำหรับการจัดตั้งธนาคารชุมชนและหมู่บ้าน สามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงได้มากที่สุด ซึ่งนโยบายพรรคสนับสนุนให้ธนาคารชุมชนละ 2 ล้านบาท อยากให้จัดตั้งธนาคารทั่วประเทศ 8 หมื่นหมู่บ้าน วงเงิน 1.6 แสนล้านบาท อยากให้ผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชนที่มุ่งมั่นตั้งใจทำธุรกิจในครอบครัว ให้มีแหล่งเงินทุน สามารถกู้เงินจากธนาคารชุมชนได้รายละ 5 หมื่นบาท เพื่อนำเงินนั้นต่อยอดประกอบอาชีพได้
สำหรับเกษตรกรมีหนี้สิน ที่ผ่านมามีกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร ทางพรรคคิดว่า การปล่อยให้เกษตรกรมีหนี้สินรุงรังแก้ปัญหากันเอง คงไม่ดีนัก ข้อเสนอของพรรคคือ ให้มีการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เฉพาะเกษตรกรไทย ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการคือซื้อหนี้เสียออกมาจาก ธ.ก.ส. เพื่อนำหนี้เสียของเกษตรกรมาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่ เช่นเดียวกับหนี้เสียของผู้ประกอบการรายย่อย SME และกลุ่ม Start Up ก็จะใช้โครงสร้างและหลักการเดียวกัน
ม.ร.ว. ศศิพฤนท์ กล่าวว่า เราต้องมีวิธีการหาเงินด้วย ซึ่งมาจากการปรับโครงสร้างตลาดเงิน ตลาดทุน สิ่งที่อยากเร่งรัด ปรับปรุงระบบธนาคารไทยให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ไทยมีต้นทุนสูง เนื่องจากมีหนี้เสียเยอะ นำระบบไอที เอไอ เข้าไปช่วย เกิดลดต้นทุนอย่างรวดเร็ว เมื่อลดต้นทุนได้เร็วทำให้ช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยต่ำลง
ด้านไมโครไฟแนนท์แบงค์ การให้ประชาชนรายย่อยกู้เงินได้โดยไม่ใช้หลักประกัน ขยายเครือข่ายได้ผ่านไปรษณีย์ไทย สามารถใช้เป็นสาขาธนาคารเข้าทำธุรกรรม รวมถึงพัฒนาไฟแนนซ์เซนเตอร์ สามารถสร้างเมืองให้เป็นศูนย์รวมการเงิน การค้า เม็ดเงิน มีจำนวนมากที่อยู่ต่างประเทศ เช่น ทุนจีนที่ประสงค์ลงทุนในประเทศไทย การจัดตั้งไฟแนนท์เซนเตอร์ได้ จำเป็นต้องปรับแก้ระเบียบข้อบังคับบางประการ และต้องผลักดันตลาดหลักทรัพย์และ กลต. ทำให้การระดมทุน IPO ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น บริษัทขนาดเล็กระดมทุนได้ง่ายขึ้น
"พรรคประชาธิปัตย์ เชื่อมั่นว่า จะสามารถผลักดันกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยไม่ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่ม ไม่ต้องแจกเงินสุรุ่ยสุร่าย และจากเม็ดเงินที่มีอยู่ในระบบ สามารถจัดสรรเพื่อการลงทุนในอนาคต และพัฒนากลุ่มฐานรากให้เป็นผู้มีความสามารถเสียภาษีในอนาคตได้" ม.ร.ว. ศศิพฤนท์ กล่าว
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานคณะกรรมการนโยบาย ปชป. กล่าวว่า พรรคเสนอเพิ่มอายุการเกษียณทั้งภาครัฐและเอกชนไปอีก 5 ปี ต่อไปแรงงานจะลดน้อยลง เนื่องจากโครงสร้างประชากรต่อจากนี้จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น จึงต้องให้ผู้สูงอายุได้มีงานทำ แต่ผู้สูงอายุต้องให้มีการตรวจสุขภาพเพราะต้องมีสุขภาพที่สมบูรณ์ และทำงานตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาหรือไกด์
นอกจากนี้ต้องปรับแก้ระบบประกันสังคมให้ยืดหยุ่นขึ้น แก้โครงสร้างให้เป็นระบบคล้ายกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผู้ประกันตนสามารถเลือกบำเหน็จหรือบำนาญ สนับสนุนให้ไรเดอร์เข้าสู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ได้ พร้อมแก้มาตรา 39 ให้ยืดหยุ่นมากขึ้นไม่เสียสิทธิ์ที่ได้จากมาตรา 33 โดยต้องทำให้ครอบคลุมทั่วถึง เพื่อเราจะได้ไม่ต้องไปพึ่งพาแรงงานต่างประเทศมากเกินไป
"เชื่อว่าผู้สูงอายุอยากทำงานมากกว่าแบมือขอเงินไม่กี่พันบาทจากรัฐ ซึ่งประชาธิปัตย์จะมีการเพิ่มเงินให้ผู้สูงอายุด้วย แต่เราจะไม่ประกาศตัวเลข เพราะเราไม่ต้องการไปแข่งกับใคร บางพรรคอาจจะประกาศ 3 พัน 5 พัน 8 พัน หรือหนึ่งหมื่นก็ได้ ซึ่งเป็นการแข่งขันกันแบบไม่มีสาระ แต่ประชาธิปัตย์จะดูตามความเป็นจริงว่า อนาคตข้างหน้าเราจะช่วยผู้สูงอายุปีต่อปีต่อเนื่องได้อย่างไร" นายพิสิฐ กล่าว
ส่วนธนาคารชุมชนและหมู่บ้าน ชุมชนละ 2 ล้านบาท จะเกิดปัญหาเหมือนกองทุนหมู่บ้าน ที่เกิดความไม่โปร่งใสจนกลายเป็นหนี้เสียหรือไม่ นายพิสิฐ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้มีธนาคารชุมชนและหมู่บ้าน เพื่อให้ชุมชนและหมู่บ้านตัดสินใจเองได้ แต่จะอยู่ในระบบการควบคุมตรวจสอบได้ โดยให้ธนาคารของรัฐ คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ในชุมชนไปดูแลให้ตาม พ.ร.บ.สถาบันการเงิน จึงเชื่อว่า จะไม่เกิดปัญหาเหมือนโครงการในอดีต
นายเกียรติ สิทธีอมร ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อแตกต่างของพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคการเมืองอื่นๆว่า ข้อแรก นโยบายพรรค ปชป.ที่ไปดูแลฐานรากให้เข้มแข็ง ลดเลื่อมล้ำในโครงการมันเอง ลักษณะนโยบายบางพรรคกลับเป็นการเพิ่มความเลื่อมล้ำ เช่น กรณีนโยบายเอาเงินงบประมาณไปให้คนที่มีรายได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องช่วยแบบนี้เป็นการเพิ่มความเลื่อมล้ำทันที
2.ใช้เงินน้อย ได้ผลเยอะ เม็ดเงินงบประมาณต้องใช้ด้วยความระวัดระวังและต้องชัดเจนว่า ใครได้รับประโยชน์ไม่ใช่หว่านไปทั่ว ซึ่งปชป. เน้นใช้เงินน้อยได้ผลมาก เพราะอาชีพอิสระ เป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด เงินทุกบาทจะลงไปสู่กลุ่มที่ปัจจุบันไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
3.ธนาคารชุมชน หลักคิด คือ ชุมชนดูแลชุมชน คนในชุมชนรู้ดี ใครน่าเชื่อถือ ซึ่งหลักการนี้ได้รับการพิสูจน์มาแล้วในหลายประเทศ เป็นระบบดีที่สุดที่กำกับไมโครเครดิต หรือสินเชื่อรายเล็กรายน้อย อันนี้เป็นเป้าหมายที่ชัดเจนของพรรคประชาธิปัตย์และเป็นจุดต่างเมื่อเทียบนโยบายกับพรรคการเมืองอื่นๆ
4.ระบบขนส่งภาคเกษตร เมื่อลดต้นทุน ส่วนต่างกลับไปที่เกษตรกร เช่น หากขนส่งอ้อยด้วยรถบรรทุก 200 บาทต่อตัน แต่ถ้าเป็นการขนส่งระบบราง 40 บาทต่อตัน ส่วนต่างต้องกลับไปที่เกษตรกร ส่วนไฟแนนซ์เซ็นเตอร์ทำได้อีกหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดที่ดูแลเรื่องการค้าชายแดน เช่น อุดรธานี หนองคาย ก็สามารถเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าและและเป็นศูนย์กลางการเงินของผู้ประกอบการได้