นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง จากการหารือร่วมกับบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และรถโดยสารและรถร่วมบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ในวันนี้ได้ตกลงที่จะตรึงราค่าค่าโดยสารไว้ก่อน แม้ว่าราคาน้ำมันดีเซลจะปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมถึงลิตละ 5.10 บาท ซึ่งตามปกติแล้วคณะกรรมการฯ จะพิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารให้เมื่อราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นเกินลิตรละ 3 บาท
เนื่องจากคณะกรรมการฯ อยู่ระหว่างรอคำตอบจากกระทรวงการคลังที่ขอให้ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลให้กับผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะลิตรละ 1-2 บาท คาดว่าจะได้รับคำตอบภายในวันศุกร์ที่ 25 เม.ย.นี้ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้กับผู้ประกอบการรถโดยสารที่ประสบปัญหาต้นทุนการเดินรถที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันแพง
นอกจากนั้น ยังมีแผนกำหนดมาตรการแก้ปัญหาระยะยาว โดยกระทรวงคมนาคมและกระทรวงพลังงานได้ประสานเพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาปรับเปลี่ยนรถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติเอ็นจีวี ซึ่งจากการหารือเบื้องต้นพบว่ากระทรวงพลังงานจะรับผิดชอบจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้ผู้ประกอบการใช้เป็นทุนในการปรับเปลี่ยนรถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติเอ็นจีวี โดยแหล่งเงินจะมาจาก 4 แห่ง คือ 1.บมจ.ปตท. (PTT) 2.กองทุนอนุรักษ์พลังงาน 3.รัฐบาล และ 4.ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้ ในวันที่ 28 เม.ย.กระทรวงคมนาคมและกระทรวงพลังงานจะประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดมาตรการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งจะได้กำหนดแผนงานให้ชัดเจน ทั้งในส่วนของแผนการขยายสถานีบริการก๊าซธรรมชาติเอ็นจีวี และมาตรการที่จะจูงใจให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ใช้ก๊าซธรรมชาติเอ็นจีวี
"การไม่ปรับขึ้นค่าโดยสารให้กับผู้ประกอบการ คงไม่ใช่คำตอบที่ผู้ประกอบการพอใจ แต่เราได้เตรียมมาตรการรองรับเพื่อแก้ปัญหาต้นทุนเดินรถเพิ่มจากราคาน้ำมันแพง เพราะหากต้องปรับค่าโดยสารทุกครั้งที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่ม ถือเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด แต่เราก็ไม่ได้ปฏิเสธที่จะขึ้นค่าโดยสาร เพียงแต่ขอเวลาให้ข้อมูลที่จะกำหนดมาตรการช่วยเหลือชัดเจน คาดว่าข้อมูลทุกอย่างจะชัดเจนภายในวันที่ 28 เม.ย.นี้ แน่นอน"นายปิยะพันธ์ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย คคฦ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--