"สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศต่อกรณี "คนไทยนิยมพรรคการเมืองใด (ก่อนเลือกตั้ง)" ระหว่างวันที่ 10-20 เมษายน 2566 เก็บข้อมูลทางภาคสนาม จำนวน 162,454 คน เป็นเพศชาย จำนวน 74,073 คน ร้อยละ 45.60 เพศหญิง จำนวน 88,381 คน ร้อยละ 54.40 โดยมีอายุระหว่าง 18 - 30 ปี จำนวน 31,627 คน (19.47%) อายุ 31 - 50 ปี จำนวน 72,808 คน (44.82%) และอายุ 51 ปีขึ้นไป จำนวน 58,019 คน (35.71%) โดยสำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 13,368 คน (8.23%) ภาคกลาง จำนวน 43,023 คน (26.48%) ภาคเหนือ จำนวน 27,664 (17.03%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 53,865 (33.16%) และภาคใต้ จำนวน 24,534 คน (15.10%)
- พรรคการเมืองที่นิยมมากที่สุดในช่วงก่อนเลือกตั้ง คือ
พรรคเพื่อไทย 41.37% รองลงมาคือ พรรคก้าวไกล 19.32% พรรคภูมิใจไทย 9.55% พรรครวมไทยสร้างชาติ 8.48% พรรคพลังประชารัฐ 7.49% พรรคประชาธิปัตย์ 7.30% พรรคไทยสร้างไทย 2.41% พรรคเสรีรวมไทย 1.74% พรรคชาติไทยพัฒนา 1.25% และพรรค อื่น ๆ 1.09% เมื่อพิจารณาจำแนกตามอายุ พบว่า กลุ่มอายุ 18-30 ปี นิยมพรรคก้าวไกลมากที่สุด 50.20% กลุ่มอายุ 31-50 ปี และกลุ่มอายุ 51 ปีขึ้นไป นิยมพรรคเพื่อไทยมากที่สุด 44.59% และ 44.92% ตามลำดับ เมื่อพิจารณาจำแนกตามภูมิภาค พบว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมพรรคเพื่อไทยมากที่สุด 41.99%, 42.11%, 49.24% และ 48.92% ตามลำดับ ส่วนภาคใต้นิยมพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด 24.20% จากผลการสำรวจครั้งนี้ ภาพรวมกระแสความนิยมของพรรคเพื่อไทยแม้จะลดลงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลช่วงก่อนยุบสภา แต่ก็ยังคงเป็นที่นิยมในทุกภูมิภาค แม้แต่ในภาคใต้ก็ถือได้ว่าได้รับผลตอบรับที่ไม่แย่นัก ส่วนพรรคก้าวไกลกระแสความนิยมเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคก็ต้องมาติดตามกันต่อว่าจะเปลี่ยนกระแสเป็นคะแนนในวันเลือกตั้งจริงได้เท่าใด ส่วนพรรคอื่น ๆ กระแสความนิยมไม่ต่างจากเดิมมากนัก
จากผลโพลเรื่องคนไทยนิยมพรรคการเมืองใด (ก่อนเลือกตั้ง)
อันดับ 1 คือ เพื่อไทย สอดคล้องกับนโยบายประชานิยมต่าง ๆ โดยเฉพาะการให้เงินดิจิทัล 10,000 บาท ค่อนข้างได้รับการตอบรับอย่างมาก
อันดับ 2 ก้าวไกล บุคลิกที่โดดเด่นของหัวหน้าพรรคและผู้สมัครของพรรคในการออกสื่อหาเสียงตามรายการทีวีและสื่อออนไลน์ต่างๆ ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
อันดับ 3 ภูมิใจไทย นโยบายต่างๆ เช่น การพักหนี้ 3 ปี ถือว่าตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในเรื่องการลดค่าครองชีพ
อันดับ 4 รวมไทยสร้างชาติ จุดขายยังคงเป็นเรื่องความซื่อสัตย์และนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนทั่วไป
อันดับ 5 พลังประชารัฐ เน้นเรื่องการลดความขัดแย้งและนโยบายสวัสดิการที่ประชาชนเห็นว่าพอจับต้องได้
อันดับ 6 ประชาธิปัตย์ นโยบายเรื่องธนาคารหมู่บ้านแห่งละ 2 ล้าน ถือว่าเป็นจุดขายของพรรค ในส่วนไทยสร้างไทย เสรีรวมไทยและชาติไทยพัฒนายังได้รับความสนใจจากประชาชนในระดับหนึ่งตามลำดับ
1. คนไทยนิยมพรรคการเมืองใด (ก่อนเลือกตั้ง)
อันดับ 1 เพื่อไทย 41.37% อันดับ 6 ประชาธิปัตย์ 7.30% อันดับ 2 ก้าวไกล 19.32% อันดับ 7 ไทยสร้างไทย 2.41% อันดับ 3 ภูมิใจไทย 9.55% อันดับ 8 เสรีรวมไทย 1.74% อันดับ 4 รวมไทยสร้างชาติ 8.48% อันดับ 9 ชาติไทยพัฒนา 1.25% อันดับ 5 พลังประชารัฐ 7.49% อันดับ 10 พรรคอื่นๆ 1.09% 2. คนไทยนิยมพรรคการเมืองใด (ก่อนเลือกตั้ง) : จำแนกตามอายุ อันดับ พรรคการเมือง 18-30 ปี 31-50 ปี 51 ปีขึ้นไป 1 เพื่อไทย 27.43% 44.59% 44.92% 2 ก้าวไกล 50.20% 15.85% 6.85% 3 ภูมิใจไทย 6.54% 10.56% 9.91% 4 รวมไทยสร้างชาติ 3.90% 7.57% 12.13% 5 พลังประชารัฐ 3.37% 6.57% 10.90% 6 ประชาธิปัตย์ 4.26% 7.64% 8.53% 7 ไทยสร้างไทย 1.52% 2.69% 2.53% 8 เสรีรวมไทย 1.20% 2.01% 1.68% 9 ชาติไทยพัฒนา 0.79% 1.34% 1.38% 10 พรรคอื่นๆ 0.79% 1.18% 1.17% 3. คนไทยนิยมพรรคการเมืองใด (ก่อนเลือกตั้ง) : จำแนกตามภูมิภาค อันดับ พรรคการเมือง กรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ 1 เพื่อไทย 41.99% 42.11% 49.24% 48.92% 14.27% 2 ก้าวไกล 24.22% 20.20% 20.88% 19.16% 13.71% 3 ภูมิใจไทย 4.40% 9.66% 5.70% 11.58% 12.03% 4 รวมไทยสร้างชาติ 11.21% 10.34% 6.21% 3.97% 16.23% 5 พลังประชารัฐ 5.06% 5.80% 9.30% 7.54% 9.65% 6 ประชาธิปัตย์ 7.57% 6.11% 4.79% 1.78% 24.20% 7 ไทยสร้างไทย 3.38% 0.94% 1.71% 3.74% 2.32% 8 เสรีรวมไทย 1.77% 1.73% 1.92% 1.86% 1.25% 9 ชาติไทยพัฒนา 0.26% 3.01% 0.25% 0.71% 1.01% 10 พรรคอื่นๆ 0.14% 0.10% - 0.74% 5.33%