เลือกตั้ง'66: กกต.จับมือพันธมิตรเฝ้าระวังระบบเลือกตั้งถูกโจมตีทางไซเบอร์

ข่าวการเมือง Tuesday May 9, 2023 18:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า กกต.ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและตอบสนองภัยคุกคามทางไซเบอร์สำหรับระบบเลือกตั้ง โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการเฝ้าระวังและแก้ปัญหาการคุกคามทางไซเบอร์ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี, สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เพื่อเฝ้าระวังป้องกันความเสี่ยง และรักษาความมั่นคงปลอดภัยทั้งไซเบอร์ ป้องกันการโจมตีกับระบบที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งของ กกต. เช่น แอปพลิเคชั่น "smart vote" แอปฯ "ตาสับปะรด" เว็บไซต์สำนักงานกกต. และเว็บฯ กกต.จังหวัด ฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยติดตามตลอด 24 ชั่วโมง จนถึงวันเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.นี้

"อยากให้ประชาชนมั่นใจในการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.ที่จะถึงนี้ หน้าที่ของ กกต.คือการธำรงค์ไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเครื่องมือสำคัญคือการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม เป็นที่ยอมรับ และประชาชนเป็นเจ้าของการเลือกตั้ง กกต.ตั้งความหวังเอาไว้สูงเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ว่าสังคมจะรู้สึกหรือมองเราอย่างไร แต่สิ่งที่เราตั้งใจทำ คือการให้มีสนามแข่งขันที่เป็นธรรมในการเลือกตั้ง มีความเสมอภาคทุกพรรคการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน ทุกอย่างต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส นี่คือเป้าหมายที่อยากให้เกิดขึ้น" นายแสวง กล่าว

สำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ยอมรับว่ามีข้อผิดพลาด สำนักงานฯ ได้รีบแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีกในวันที่ 14 พ.ค. โดยได้ส่งหนังสือแจ้งทุกจังหวัดให้ซักซ้อมกับกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ในการทำงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย อำนวยความสะดวกกับประชาชน ดูแลการปิดประกาศให้ครบถ้วน ชัดเจน และรักษาอย่าให้ใครมาทำลาย หรือนำมาเป็นประเด็น ทำให้เกิดความสับสนว่า กกต.ดูแลไม่ดี หรือทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ตลอดจนการนับคะแนน การรายงานผล ผู้อำนวยการเลือกตั้งต้องติดตามใกล้ชิด ให้คำแนะนำให้ปฏิบัติและดูแลผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้อย่างถูกต้อง หากเกินกำลังให้ส่งมายัง กกต.ส่วนกลาง ซึ่งมีการตั้งคลินิก กปน.รองรับ

"กกต.ยืนยันว่าจะรักษาคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งไปแล้วเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา หรือที่จะลงในวันที่ 14 พ.ค.ที่กำลังจะมาถึงนี้ ไม่ว่าท่านลงให้ใคร พรรคไหน คะแนนนั้นก็จะได้กับคนนั้น ผมหวังว่าสถานการณ์ไปจนถึงวันเลือกตั้งน่าจะเป็นไปด้วยดี เราต้องรักษาสนามประชาธิปไตยไว้" นายแสวง กล่าว

ส่วนกรณีมีเสียงวิจารณ์เรื่องการจ้างผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งที่ค่าใช้จ่ายจะรวมเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งว่า กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองส่งผู้สังเกตการณ์ได้ตาม มาตรา 55 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 61 โดยพรรคการเมืองที่ประสงค์ส่งผู้สังเกตการณ์ให้แจ้งต่อ กกต.ภายใน 15 วัน ก่อนจะมีการเลือกตั้ง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะเป็นของพรรคการเมือง หากพรรคการเมืองใช้วงเงิน 44 ล้านบาทหมดไปแล้ว อาจอาศัยช่องทางผู้สมัครแบ่งเขตของพรรคการเมืองนั้น ส่งผู้สังเกตการณ์มาดูแลแทน โดยผู้สังเกตการณ์ที่พรรคแจ้งชื่อมา กกต.จะจัดให้นั่งด้านในหน่วยเลือกตั้ง กรณีที่ส่งมาเองก็จะอยู่ด้านนอก แต่ก็สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ส่วนที่มีการทักท้วงว่า กกต.เคยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ เป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 41 แต่กฎหมายยกเลิกไปแล้ว ยืนยันว่าสิ่งที่ กกต.ทำเป็นไปตามกฎหมาย แต่ทุกคนก็สามารถมีช่องทางสังเกตการณ์ได้ตามปกติ

ส่วนความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวันที่ 7 พ.ค. หรือวันที่ 14 พ.ค.ได้ให้ ผอ.ทุกจังหวัดรายงานทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกหน่วย ซึ่งจะมีบันทึกเหตุการณ์เอาไว้อยู่แล้ว ตั้งแต่ 08.00 น.จนถึงการนับคะแนน เช่น หากขานคะแนนผิด แล้วมีข้อทักท้วง ก็จะต้องบันทึกเหตุการณ์เอาไว้ หรือกรณีนายชูวิทย์ ระบุนั้น ตนได้ส่งเรื่องไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 พ.ค. เพื่อให้มีการตรวจสอบเหตุการณ์ ดังนั้นนอกจากการบันทึกเหตุการณ์ที่หน่วยแล้ว ให้ตรวจสอบกรณีเหตุการณ์ที่เป็นข่าวด้วยว่าจริงหรือไม่ แก้ไขอย่างไร

สำหรับกรณีพรรครวมไทยสร้างชาติ ยิงแสงเลเซอร์หาเสียงบริเวณเสาหลักกลางของสะพานพระราม 8 นายแสวง กล่าวว่า ได้ฟังจากข่าว เป็นเรื่องของเจ้าของพื้นที่ ซึ่งการติดป้ายหาเสียงติดอยู่ในพื้นที่ของรัฐทั้งนั้น ทั้งตามถนน เสาไฟฟ้า แต่ต้องขออนุญาต กรณีพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น ดูแล้วเป็นการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ตามข้อ 7 (7) เป็นการหาเสียงกึ่งอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการหาเสียงลักษณะดังกล่าว ได้มีหนังสือแจ้งไปยังทุกพรรคการเมืองแล้วว่าไม่อยู่ภายในการบังคับเรื่องป้ายหาเสียง แต่ขอให้เจ้าของสถานที่เป็นผู้อนุญาต ซึ่งเรื่องนี้ทาง กทม.ได้ตรวจสอบแล้ว กรณีมีคนร้องให้ กกต.กทม.วินิจฉัย ก็ต้องวินิจฉัย แต่จะให้ตนวินิจฉัยตอนนี้คงยังไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบข้อเท็จจริง เพียงแต่ฟังมาว่าอะไรเป็นอะไรเท่านั้น

ส่วนกรณีพรรคก้าวไกล เรียกร้องให้ กกต.เปิดเผยข้อมูลผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า จำแนกเป็นรายเขต เพื่อให้พรรคการเมืองต่างๆ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ รวมถึงให้จัดทำข้อมูลหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศเป็นไฟล์ EXCEL นั้น นายแสวง กล่าวว่า ขอรับไว้พิจารณา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ