นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงกรณีพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ประชาสัมพันธ์ข้อความหาเสียงบนเสาสะพานพระราม 8 โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้ น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้ทำหนังสือมาถึงนายขจิต ชัชวาณิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) จริง โดยได้ขออนุญาตใช้สถานที่หาเสียงบริเวณสวนหลวงพระราม 8 และลานริมแม่น้ำใต้สะพานพระราม 8 รวมทั้งการขออนุญาตฉายภาพและข้อความด้วย
โดยยอมรับว่านายสุพจน์ หล้าจำศีล ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน ได้ให้การอนุญาตใช้พื้นที่ในบริเวณสวนหลวงพระราม 8 และลานริมแม่น้ำใต้สะพานพระราม 8 ไป โดยไม่ได้พิจารณาอย่างละเอียดว่ามีเอกสารแนบในการขอฉายข้อความในพื้นที่ดังกล่าวด้วย แต่เมื่อได้เห็นภายหลังว่ามีการฉายโปรเจ็กเตอร์ข้อความหาเสียงของพรรครวมไทยสร้างชาติ ขึ้นไปบนเสาสะพานพระราม 8 ซึ่งอยู่นอกเหนือพื้นที่ที่อนุญาตให้ปราศรัยหาเสียงได้ตามปกตินั้น กทม.จะได้ทำหนังสือแจ้งกลับไปยังผู้สมัคร ส.ส.ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ว่าจะไม่อนุญาตให้มีการใช้สะพานพระราม 8 ดำเนินการในลักษณะดังกล่าว เพราะถือเป็นพื้นที่สาธารณะ และอาจมีผลกระทบด้านความปลอดภัยต่อผู้ขับขี่รถยนต์ในขณะนั้นด้วย
"ตอนที่อนุญาตไปนั้น เราเข้าใจว่าเป็นการหาเสียงตามปกติในพื้นที่สวน และลานใต้สะพานพระราม 8 ไม่ได้มีการฉายโปรเจคเตอร์ไปบนเสาสะพานด้วย เพราะเสาสะพานไม่ได้อยู่บนพื้นที่ที่เราอนุญาตให้ใช้หาเสียงอยู่แล้ว และตัวสะพาน ไม่ได้เป็นส่วนของสวนที่เราอนุญาต ซึ่งตัวสะพาน จะอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการโยธา ถ้าเราทราบ เราคงไม่อนุญาตให้ฉาย เพราะอาจมีปัญหาเรื่องความสนใจของผู้ใช้รถ" นายชัชชาติ กล่าว
พร้อมเชื่อว่า ผู้สมัครของพรรคการเมืองคนดังกล่าว คงไม่ได้มีเจตนาจะทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และย้ำด้วยว่า กทม.มีความเป็นกลาง ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติกับพรรคการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น แต่การที่อนุญาตไปในครั้งแรกนั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และยอมรับว่า เป็นเพราะไม่ได้พิจารณาเอกสารอย่างละเอียด เนื่องจากในช่วงนี้ จะมีผู้สมัครทำหนังสือขออนุญาตใช้สถานที่ของ กทม.เพื่อใช้ในการปราศรัยหาเสียงเข้ามาเป็นจำนวนมาก และสุดท้าย ก็ขอให้ยุติการฉายข้อความบนเสาสะพานพระราม 8 แล้ว ซึ่งในหนังสือดังกล่าวได้ทำการขออนุญาตไว้ ระหว่างวันที่ 8-12 พ.ค.66 ในช่วงเวลา 20.00 - 02.00 น.
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ กทม. จะทำหนังสือไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอหารือถึงแนวทางหากในอนาคตจะมีผู้สมัคร ส.ส. มาขอใช้สถานที่ที่อยู่ในความดูแลของ กทม. ตลอดจนสถานที่ของเอกชน ในการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์หาเสียงเลือกตั้ง ว่าควรจะมีแนวปฏิบัติอย่างไรเพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานต่อไป อย่างไรก็ดี กรณีนี้จะถืออีกเป็นบทเรียนของ กทม.ด้วย