นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบการรายงานข่าว การจัดประชันนโยบายของพรรคการเมือง หรือการทำโพลสำรวจความคิดเห็นของสื่อมวลชนบางสำนัก ที่ไม่มีความเท่าเทียม เสมอภาค ทำให้เกิดข้อได้เปรียบกับพรรคการเมืองบางพรรค
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ตั้งแต่มี พ.ร.ฎ.ยุบสภา ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.66 ได้เฝ้าสังเกตการณ์การทำงานของสื่อมวลชน พบว่ามีสื่อมวลชนหลายสำนักรายงานข่าว รายงานกิจกรรมการหาเสียงของ ส.ส. และพรรคการเมือง อาจจะไม่เป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2561 แก้ไขเพิ่มเติม ที่ระบุว่าห้ามผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดใช้สื่อมวลชน วิทยุ โทรทัศน์ หาเสียง เว้นแต่เป็นไปตามที่ กกต.กำหนด
ซึ่ง กกต. กำหนดว่า การหาเสียง หรือการรายงานข่าวของสื่อมวลชนนั้น จะต้องเสนอภาค เป็นกลาง และเที่ยงตรง แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีสื่อมวลชนบางสำนัก โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์มักจะเชิญผู้สมัครรับเลือกตั้ง เชิญตัวแทนพรรคการเมืองมาออกโทรทัศน์ โดยเฉพาะการจัดดีเบต ซึ่งในการจัดในหลายครั้ง สังเกตว่าส่วนใหญ่จะเชิญพรรคการเมืองมาไม่ถึง 10 พรรคการเมือง ส่วนใหญ่เป็นพรรคเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชาติ พรรคไทยภักดี พรรคไทยสร้างไทย เป็นต้น ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งครั้งนี้ มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง เกือบ 70 พรรคการเมือง จำนวนผู้สมัครถึง 4,781 คน
"ถือเป็นการลำเอียง ไม่เสมอภาคและไม่เที่ยงธรรมในการรายงานข่าว และสื่อบางช่องรายงานข่าวผู้สมัครบางคนทุกวัน โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่เกี่ยวพันกับนักการเมือง ซึ่งอาจจะมีภรรยาไปลงเลือกตั้ง ส่วนตัวคิดว่าการเสนอข่าวแบบนี้ทำให้เกิดผลได้ และผลเสียต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งบางคนบางพรรค จึงมาร้องให้ กกต.บังคับใช้กฎหมาย หรือสั่งการไปยังสื่อสำนักต่างๆ ว่าดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่ชี้นำ ลำเอียง หรือรายงานข่าวเฉพาะคนที่ตัวเองสนใจ" นายศรีสุวรรณ กล่าว
พร้อมระบุว่า ดังนั้นมีความจำเป็นต้องมายื่นให้กกต. รับรู้ และดำเนินการตามประเด็นที่กฎหมายกำหนด หาก กกต.เพิกเฉย หลังเลือกตั้งก็จะมีประเด็นที่นำมาสู่การฟ้องร้อง ซึ่งอาจจะนำไปสู่การทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้