นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ในวันนี้ได้มาตรวจเยี่ยมการรับบัตรเลือกตั้งที่ "ห้องมั่นคง" สำนักงานเขตพระนคร โดยเบื้องต้นห้องมั่นคงจะเป็นห้องเก็บรักษาหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งทางกทม. ได้ติดกล้อง CCTV เพื่อตรวจจับว่าบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต (ซึ่งประชาชนลงคะแนนแล้ว) ที่อยู่ในหีบมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างเรียบร้อยและโปร่งใส โดยประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปติดตามการถ่ายทอดสดห้องมั่นคงผ่านกล้อง CCTV ได้ทางเว็บไซต์ https://general-election.bangkokcc.com/
ปัจจุบันตั้งแต่วันที่ 10 จนถึงวันที่ 12 พ.ค. นี้ จะมีบัตรเลือกตั้งเข้ามา 2 แบบ ดังนี้
- แบบที่ 1 คือบัตรเลือกตั้งสำหรับวันที่ 14 พ.ค. ซึ่งหน้าที่ของทางเขตคือการตรวจรับบัตรที่เข้ามา โดยตรวจสอบให้เรียบร้อยว่า 1 เล่ม มีบัตร 20 ฉบับ พร้อมต้องมีการเซ็นรับ และมีตราประทับด้วย
- แบบที่ 2 คือบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต และนอกราชอาณาจักร (ซึ่งประชาชนลงคะแนนแล้ว)
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสนว่าเจ้าหน้าที่เข้าไปทำอะไรในห้องมั่นคง กทม. จึงได้เพิ่มฟังก์ชัน "คำชี้แจงเหตุการณ์" บนเว็บไซต์ ซึ่งจะระบุข้อมูลชี้แจงความเคลื่อนไหว คือถ้ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปจะมีการรายงานในเว็บไซต์ทุกครั้งว่าเข้าไปทำอะไร
"มาตรการนี้เป็นมาตรการสำคัญที่เพิ่มเข้ามา เพื่อเน้นย้ำความโปร่งใส ด้วยเห็นว่าการเลือกตั้งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย และการเลือกตั้งเป็นความหวังของหลายๆ คน ฉะนั้นเสียงของเขาต้องได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ยังต้องเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ จึงต้องบอกประชาชนให้ชัดเจนเพื่อให้เข้าใจได้ถูกต้องตรงกันว่าเรากำลังทำอะไร" รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
สำหรับสำนักงานเขตพระนคร เป็นศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประจำเขตเลือกตั้งที่ 1 กรุงเทพมหานคร ดูแลทั้งหมด 5 เขต ได้แก่ เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตดุสิต (ยกเว้นแขวงถนนนครไชยศรี) และเขตบางรัก โดยจะมีบัตรเลือกตั้งที่จะใช้วันที่ 14 นี้ ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อประเภทละ 143,820 ฉบับ ซึ่งเขตอื่นๆ อีก 4 เขต จะต้องเข้ามารับบัตรเลือกตั้งของวันที่ 14 ที่เขตพระนคร ทั้งนี้ เขตพระนครมีหน่วยเลือกตั้ง 63 หน่วย มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวม 34,234 คน
นอกจากนี้ อาจมีประชาชนหลายคนที่ยังไม่แน่ใจว่าหน่วยของตัวเองอยู่ที่ไหน ประกอบกับปัจจุบันได้มีอาสาสมัครธรรมชาติที่อยากมาช่วยเฝ้าหรือช่วยจับตามอง โดยบางคนอาจจะไม่ได้ดูแค่ที่หน่วยตัวเองอย่างเดียว แต่อาจจะอยากรู้ว่าทั้งหมด 6,327 หน่วย อยู่ที่ไหน กทม. จึงได้นำข้อมูลหน่วยที่รวบรวมรายงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาเปิดเป็นสาธารณะให้ประชาชนทราบ ซึ่งเชื่อว่าการเปิดเผยข้อมูลไปน่าจะเป็นบวกกับทุกคน และยังสามารถทำให้ประชาชนมาช่วยกันรักษาสิทธิและเสียงของตัวเองได้ด้วย
สำหรับหนังสือที่ได้ส่งไปทาง กกต. เรื่อง CCTV ห้องมั่นคง ปลัดกทม. ได้พูดคุยกับทาง กกต. แล้ว ก็เป็นความร่วมมือที่จะทำให้เกิดความโปร่งใส ส่วนในวันจริง กกต. ตอบชัดเจนแล้วว่าไม่อนุญาตนับจำนวนคนระหว่างวัน ไม่ให้ติดกล้องเพื่อดูประชาชน เพราะเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน
ในส่วนของการประมวลผลด้วยการนำ AI ระบบ OCR (Optical Character Recognition) มาช่วยอ่านค่าตัวเลขเพื่อทำให้การรายงานผลเร็วขึ้น กกต. ได้ตอบกลับมาว่า ถ้าเป็นการทำงานภายใน กทม. สามารถทำได้ แต่ต้องมาตีความว่าสุดท้ายแล้วจะสามารถเปิดเผยอะไรได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นจะไม่ไปวุ่นวาย หรือเพิ่มภาระแก่คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) แต่จะยึดหลักเรื่องความโปร่งใสเป็นหลัก ซึ่งต้องรอดูแนวทางชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง