นายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของที่ประชุมร่วมรัฐสภา หลังพรรคก้าวไกลได้เสียงมาเป็นอันดับหนึ่งและนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลประกาศพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีว่า ส่วนตัวถ้าเสนอชื่อมาเป็นนายพิธา ก็คงไม่รับ จะลงมติไม่เห็นชอบ แม้จะรวมเสียงส.ส.มาได้เท่าไหร่ก็ตาม จะเป็น 309 เสียงของสภาฯ อย่างที่แถลงไว้หรือจะไปถึง 376 เสียงก็แล้วแต่ เพราะรับไม่ได้ที่นายพิธาได้เคยประกาศจะยกเลิกมาตรา 112
ขณะที่นายวันชัย สอนศิริ หนึ่งในส.ว. กล่าวว่า พร้อมเคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ดังนั้นต้องติดตามต่อไปว่าพรรคก้าวไกลซึ่งมีเสียงมาอันดับ 1 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามีเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาฯ จะสามารถรวมกับภาคการเมืองอื่นได้เกิน 251 เสียงจนกระทั่งถึง 376 หรือไม่
ไม่แน่ว่าคนได้เสียงอันดับ 1 จะต้องเป็นรัฐบาลเสมอ ครั้งที่แล้วพรรคเพื่อไทยก็มีเสียงมาอันดับ 1 แต่ก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน แต่ถ้ารวมเสียงได้มากโดยหลักการแล้วก็คิดว่าต้องเคารพเสียงตรงนี้ เมื่อถามว่าส่วนตัวมีเงื่อนไขในการตัดสินใจเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างไรนั้น นายวันชัย กล่าวว่า ส่วนตัวยังยืนยันในหลักการเดิมหากพรรคการเมืองสามารถประสานและรวมกันได้เสียงข้างมาก ก็ไม่ขัดข้อง แต่ยอมรับว่าต้องนำเรื่องอื่นๆ มาประกอบ แต่โดยหลักเคารพเสียงของประชาชนเป็นสำคัญ
"ครั้งนี้พรรรคก้าวไกลได้เสียงอันดับ 1 ก็จริงแต่ไม่ได้คะแนนเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเกินกว่า 251 เสียง ก็ต้องดูต่อไป ถ้าประสานกับพรรคเพื่อไทยได้อันนี้ก็มีสิทธิได้เกือบ 300 คน ก็ต้องดูว่าเขาตกลงกันได้หรือเปล่าว่าใครเป็นนายกและการทำนโยบายต่างๆนั้น ร่วมกันได้หรือเปล่าเราไม่รู้ เพราะส.ว.อยู่ข้างหลัง ไม่ใช่คนที่จะต้องเสนอใครมาเป็นนายกฯ มันอยู่ที่ส.ส. ก่อน
รายการต่อมาต้องดูว่าถ้าเขาสามารถรวมกับพรรคภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนาด้วย ถ้าเขาสามารถประสานพรรคการเมืองที่มาจากประชาชนได้ทั้งหมดผมว่าเขาก็ขาดลอยแทบไม่ต้องใช้เสียงส.ว. เลยแม้แต่เสียงเดียว ฉะนั้นผมคิดว่าตอนนี้ อย่ามาคิดว่าส.ว.จะโหวตให้ใครจะโหวตหรือไม่ เพียงแต่ผมจะดูอยู่ต่อไปว่า ก้าวไกลจะสามารถประสานกับทุกพรรคการเมือง ในการจัดตั้งรัฐบาลได้หรือเปล่า"นายวันชัย กล่าว