นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกวุฒิสภา 250 คน เรียกร้องให้สนับสนุน ?นายกฯและรัฐบาล ที่รวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร? (งดออกเสียงไม่พอ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนว่านายกฯ ต้องได้รับการ ?เห็นชอบ? เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ?ที่มีอยู่? (ไม่ใช่ ?ที่ลงมติ?)) โดยไม่แสดงท่าทีหรือความเห็นเป็นอื่นใด ที่ไปกระทบต่อกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลและการตัดสินใจของพรรคการเมืองหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
พร้อมยก 6 เหตุผล ที่เพียงแต่ขอให้บรรดาส.ว.ยึดคำพูดของตัวในอดีต
1. บางท่านเคยโหวตสนับสนุนการยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ ในรัฐสภา
เรามี ส.ว. ทั้งหมด 63 คนที่เคยสนับสนุนการยกเลิก มาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ (อย่างน้อย 1 ครั้ง จาก 3 ครั้งที่ถูกเสนอในรัฐสภาในช่วง 2563-65) แม้แต่ละคนอาจมีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป แต่การลงมติของส.ว.แสดงให้เห็นว่า ส.ว.เห็นตรงกันว่ามาตรา 272 มีปัญหาและไม่มีความจำเป็นต้องคงไว้อยู่ ดังนั้น ขอเรียกร้องไม่ให้ส.ว.เอามาตราที่เห็นว่าเป็นปัญหา มาขัดเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้ง
2. ส.ว.หลายคนเคยบอกว่าไม่จำเป็นต้องยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ เพราะอำนาจนี้ตามมาตรา 272 ?ไม่มีความหมาย? ?ไม่มีน้ำยา? และ ?ไม่มีราคา?
ส.ว. บางคนเคยบอกว่า การมีอยู่หรือไม่ของอำนาจเลือกนายกฯ ของ ส.ว. ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะใครก็ตามที่ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้ารัฐบาลก็ต้องได้รับเสียงข้างมากจาก ส.ส. เสียก่อน โดยหาก ส.ว. เลือกคนที่ไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ ก็ย่อมทำให้เกิดทางตันทางการเมืองเพราะรัฐบาลเสียงข้างน้อยจะไม่สามารถผ่านกฎหมายใด ๆ ได้ ดังนั้น หากส.ว.ยืนยันคำเดิมว่ามาตรานี้ไม่ได้มี ?ราคา? อะไร ก็อย่านำอำนาจที่ท่านมีจากมาตรานี้ มาโก่งราคาเพื่อบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้ง
3. ส.ว.หลายคนเคยอ้างว่าสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น นายกรัฐมนตรี รอบที่แล้ว เพราะ พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมากของ ส.ส.
แม้ตนต้องยืนยันจุดยืนเดิม ว่าการมีอยู่ของอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ส่งผลต่อการตัดสินใจของพรรคการเมืองและกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนั้น แต่ ส.ว. หลายคน (รวมถึง ส.ส. ซีกรัฐบาลเดิม) มักอ้างหลายครั้งว่าที่ ส.ว. โหวตให้ พล.อ. ประยุทธ์ ในการโหวตนายกฯ เมื่อปี 2562 เป็นเพราะ พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส. เกินกึ่งหนึ่ง (250+) ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังนั้น หากส.ว.ใช้ตรรกะเดิมที่เคยอ้างว่าใช้ในการสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เมื่อปี 2562 ก็ควรต้องสนับสนุนนายกฯ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส. เกินกึ่งหนึ่ง (250+) ในการเลือกนายกฯในปี 2566 เช่นกัน
4. ส.ว.หลายคนพูดเสมอถึงความสำคัญของการให้ประเทศได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เจอทางตัน
ดังนั้นหากต้องการให้ประเทศได้ ?ไปต่อ? โดยไม่เจอทางตัน จึงไม่เห็นเหตุผลใดที่ส.ว.จะไม่สนับสนุนนายกฯ และรัฐบาลที่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เพราะไม่ว่าส.ว.จะมีความคิดเห็นส่วนตัวอย่างไรกับนายกฯคนนั้น หรือพรรคที่อยู่ในรัฐบาลชุดนั้น แต่หากไปสนับสนุนนายกฯ หรือ พรรคที่ไม่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร นายกฯหรือรัฐบาลเสียงข้างน้อยชุดนั้น จะไม่สามารถบริหารประเทศให้ไปต่อได้ กฎหมายจะไม่ผ่านสักฉบับ งบประมาณจะไม่ผ่านสักบาท และรัฐบาลก็จะล้มทันทีที่มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดังนั้น ในเมื่อส.ว.การสนับสนุนนายกฯที่ได้รับการสนับสนุนจากแค่เสียงข้างน้อยของ ส.ส. จะนำไปสู่ทางตัน ก็หวังว่าจะไม่เลือกนำพาประเทศไปเจอทางตันนั้น
5. ส.ว.หลายคนพูดเสมอถึงความสำคัญของ ?การตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล?
หากส.ว.ไม่ประกาศสนับสนุนหลักการว่าจะโหวตให้นายกฯ และรัฐบาลที่รวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส. (เกิน 250 คน) แต่บีบให้เขาต้องรวบรวมเสียงให้ได้เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา (เกิน 375 คน) เท่ากับกำลังกระทำสิ่งที่เสี่ยงจะบีบให้ฝ่ายค้าน (ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล มีความอ่อนแอลงหรือมีเสียงน้อยลง
แม้พรรคก้าวไกลเรายืนยันว่าเราจะไม่หลงกลนี้ และเราจะไม่ตัดสินใจดึงพรรคที่อุดมการณ์ไม่ตรงกับเราเข้ามาร่วมเป็นรัฐบาล (โดยยังคงหวังว่าพรรคที่แม้ไม่ได้ร่วมรัฐบาลกับเรา แต่เห็นถึงความวิปริตของอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ จะมาร่วมโหวตให้เราเป็นกรณีพิเศษ) แต่เพียงอยากชี้ให้เห็นถึงความย้อนแย้งระหว่างการโยนให้พรรครัฐบาลต้องรวบรวมเสียงได้เกิน 375 เสียง กับคำพูดว่าต้องการจะสร้างระบบรัฐสภาที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลอย่างเข้มข้นโดยฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง
6. ส.ว.หลายคนพูดเสมอถึงความสำคัญของการไม่อยากเห็น ?บ้านเมืองขัดแย้ง?
ตนยืนยันว่าแม้การมีความเห็นที่แตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติของสังคมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และไม่ควรต้องหลีกเลี่ยง แต่การบริหารจัดการความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ให้ทวีคูณไปเป็นความขัดแย้งที่ดีที่สุด คือการมีกระบวนการตัดสินใจที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ดังนั้น ในเมื่อการเลือกตั้ง คือกระบวนการตัดสินใจที่เป็นธรรมกับประชาชนทุกกลุ่มความคิด เพราะเป็นการให้ประชาชนทุกคนทุกความคิด มี 1 สิทธิ 1 เสียง เท่าเทียมกัน หากส.ว.ใช้อำนาจในทางใดที่เสี่ยงจะฝืนเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้ง เท่ากับจะเป็นคนที่นำบ้านเมืองไปสู่ความขัดแย้ง ดังนั้น ขอเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาทุกท่าน สนับสนุน ?นายกฯและรัฐบาล ที่รวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร?
"มันเป็นสิทธิของท่านในระบอบประชาธิปไตย ที่จะไม่เชื่อว่านายกฯ และรัฐบาล นี้ เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ที่สุดของประเทศ แต่มันไม่ควรเป็นสิทธิของท่านในระบอบประชาธิปไตย ที่จะขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชน ที่แสดงออกมาชัดเจนผ่านคูหาเลือกตั้งถึงความต้องการอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง พัดโชยมาถึงแล้ว และหากจะต่อยอดจากคำพูดของคุณหนุ่มเมืองจันท์ ถึงเวลาที่ท่านต้องเลือก ว่าท่านจะเลือกเป็นอะไรระหว่าง ?กังหันลม? ที่โอบรับและก้าวไปด้วยกันกับความเปลี่ยนแปลงที่สังคมปรารถนา กับ ?กำแพง? ที่ฉุดรั้งการเปลี่ยนแปลงที่สังคมต้องการไว้แค่เพียงชั่วคราว แต่ทิ้งรอยร้าวและซากปรักหักพังไว้ทั่วแผ่นดิน เมื่อวันที่สายลมมันแรงเกินกว่ากำแพงใดๆจะต้านทานไว้ได้" พริษฐ์กล่าว
ในตอนท้าย นายพริษฐ์ ได้ระบุรายชื่อ ส.ว. 63 คนที่เคยสนับสนุนการยกเลิก มาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ (อย่างน้อย 1 ครั้ง จาก 3 ครั้งที่ถูกเสนอในรัฐสภาในช่วง 2563-65) อาทิ นายกล้านรงค์ จันทิก, นายคำนูณ สิทธิสมาน, นายจรุงวิทย์ ภุมมา, นายเฉลิมชัย เครืองาม, นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน, นายชาญวิทย์ ผลชีวิน, นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, นายวันชัย สอนศิริ, นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เป็นต้น